นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนธันวาคม 2563 เท่ากับ 102.34 ลดลง 0.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ขณะที่ เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 ปรับตัวลดลง 0.85% แม้เข้าใกล้เงินฝืดแต่ปัจจัยโดยรวมของเศรษฐกิจ ราคาสินค้ายังเป็นไปในทิศทางที่ดี
ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ยังมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอุปสงค์ชะลอตัวลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าสาธารณูปโภคลดลง แต่ยังไม่ได้รวมโควิดที่เกิดขึ้นรอบใหม่นี้ แต่จะรวมผลกระทบต่องเงินเฟ้อในปี 2564
ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อเงินเฟ้อ เดือนธันวาคม 2563 ลดลง 0.27% เป็นไปตามการลดลงของสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 1.24% ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร 3.07% ตามการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ลดลง 0.26% (ค่าทัศนาจร ค่าห้องพักโรงแรม) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.17% (เสื้อยืดบุรุษเสื้อยืดสตรี) หมวดเคหสถาน ลดลง 0.12% (ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำยาล้างจาน) ขณะที่หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.11%
สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น1.38% จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ 2.93% โดยเฉพาะเนื้อสุกร เนื่องจากการขยายตัวของตลาดส่งออก ผักและผลไม้ สูงขึ้น 6.43% โดยผัก สูงขึ้น 12.88% จากการสูงขึ้นของผักเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะพริกสด หัวหอมแดง และถั่วฝักยาว ผลไม้สด สูงขึ้น 0.83% (กล้วยน้ำว้า ทุเรียน องุ่น) สำหรับสินค้าในกลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปรับราคาลดลง 3.88% (ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกลดลง ส่งผลให้สต็อกข้าวมีปริมาณมาก
อย่างไรก็ดี สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนธันวาคม 2563 จำนวน 422 รายการ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามีสินค้าปรับสูงขึ้น 216 รายการ อาทิ เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู พริกสด หัวหอมแดง ถั่วฟักยาว ต้นหอม กล้วยน้ำว้า ข้าวราดแกง น้ำมันพืช สินค้าปรับราคาลดลง 139 รายการ อาทิ แก๊ซโซฮอลล์ 91 น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันเบนซิน 95 แก๊โซฮอล์ E20 ก๊าซหุงต้ม ข้าวสารเจ้า ข้าวสาเหนียว มะม่วง และสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา 67 รายการ
“หากดูราคาการสินค้าปรับขึ้นทั้งปี 2563 เทียบกับปี 2562 เช่น เนื้อสุกร ข้าวสารเหนียว กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า อาหารกลางวัน กล้าวน้ำว้า ขิง ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าเช่าบ้าน ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น แก๊ซโซฮอลล์ 91 น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันเบนซิน 95 แก๊โซฮอล์ E20 ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำประปา มะม่วง”
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อปี 2564 คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับเสถียรภาพ โดยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7 – 1.7% ค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ทั้งนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐาน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 40-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านอุปสงค์ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชน อีกทั้ง ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศ นอกจากนี้ อุปสงค์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจะส่งผลต่อราคาพลังงานภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างมาก
สำหรับปัจจัยด้านอุปทานที่จะส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาอาหารสดที่น่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามสภาพอากาศที่อาจกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร รวมถึง อุปทานด้านน้ำมันดิบ ที่มีการประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ส่วนราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวนได้ตามสถานการณ์ ซึ่งจะติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
พร้อมกันนี้ ยังประเมินว่าจากปัจจัยโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในรอบ 2 นี้ ยังเป็นปัจจัยที่กระทบต่อเงินเฟ้อของไทย รวมไปถึงปัจจัยสำคัญคือเรื่องของราคาน้ำมันที่เป็นหลักโดยมองว่าจะส่งผลต่อเงินเฟ้อในไตรมาส 1 ติดลบไม่เกิน 0.5% แต่ในไตรมาส 2 ,3,4 เชื่อว่าจะเป็นบวกและส่งผลให้ทั้งปีเงินเฟ้อยังเป็นบวกอยู่ ส่วนสถานการณ์โดยรวมในช่วงไตรมาส 1 ยังไม่มีความน่ากังวลในเรื่องของสถานการณ์ราคาสินค้าแม้จะเกิดโควิดรอบ 2 เพราะแนวโน้มราคาสินค้า การกักตุนสินค้าไม่มี แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะเจอปัญหาเรื่องของขนส่ง เวลาการให้บริการในช่วงนี้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ยังต้อมติดตามหลายปัจจัยที่มีผลต่อเงินเฟ้อในปีนี้ ทั้งเรื่องของโควิด การมีวัคซีนป้องกัน นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ยังไม่สามารถเข้ามาได้ เนื่องจากมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอย กำลังซื้อ และจีดีพีของไทย