“เกษตรกร” เดือด นัดเทน้ำนมทิ้ง เที่ยงนี้ 

06 ม.ค. 2564 | 03:23 น.

เซ่นพิษโควิด กระทรวงศึกษา “ปิดโรงเรียน” 28 จังหวัดเสี่ยง กระทบเกษตรกร ไร้ที่ส่งนม ร้อง “เฉลิมชัย” ไม่เหลียวแล นัดเที่ยงเทน้ำนมทิ้ง "สรวิศ" เบรก วอนใจเย็นไม่ได้นิ่งนอนใจ

ตามประกาศ ที่อ้างถึง เนื่องด้วยปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรน่า หรือ (โควิด-19) มีการแพร่ระบาดที่รุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มี ประกาศเรื่อง ให้สถานศึกษาสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด มีทั้งหมด 28 จังหวัด ส่งผลถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม แล้ว

 

สังวาลย์ โพธิ์มี

 

 

นายสังวาลย์ โพธิ์มี ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากผลกระทบกระทรวงศึกษาได้สั่งปิดโรงเรียนในพื้นที่ควบคุม 28 จังหวัด ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไม่มีที่จำหน่าย จำเป็นจะต้องเทน้ำนมดิบทิ้ง ที่ อ.ส.ค.ภาคใต้ อ.ปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพราะจากแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรน่า หรือ (โควิด-19) ปัญหา ทางสหกรณ์รับน้ำนมดิบจากเกษตรกร ทั้งเช้าและบ่าย เมื่อรับซื้อแล้วไม่ทราบจะไปขายที่ไหน จึงติดต่อ อ.ส.ค.ให้ อ.ส.ค. ผลิตให้ บรรจุเป็นนมกล่อง เสร็จแล้วทางสหกรณ์จะรับเป็นนมกล่อง กลับ อ.ส.ค. ก็ไม่ผลิตให้ เพราะถ้าผลิตให้อย่างน้อยก็สามารถยืดอายุได้ 8-9 เดือน แล้วหากสถานการณ์กลับมาปกติ โรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ ก็จะระบายนมทั้งหมดตามเครือข่ายเดิมที่ได้ปฏิบัติตามเอ็มโอยูที่ตกลงกันก่อนหน้านี้ เมื่อเจรจากันไม่รู้เรื่อง ก็ต้องออกมากดดันเรียกร้อง เพราะสุดทนแล้ว จำเป็นต้อง "เทน้ำนมทิ้ง" เวลา 12.00 น. หรือ เที่ยงนี้

 

 

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ ทางชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือเพื่อขอความช่วยเหลือเยียวยาแก้ปัญหาความเดือดร้อนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เป็นการเร่งด่วน ดังนี้ 1. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  (อปท.) หรือ หน่วยงานจัดซื้อดำเนินการจัดซื้อผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน ยู.เอช.ที. แทน ผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน พาสเจอไรส์ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการระบายผลิตภัณฑ์นม โรงเรียน ยู. เอช. ที. ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม สำมารถช่วยเหลือรับซื้อน้ำนมดิบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต่อไปได้ในช่วงที่มีมาตรการให้โรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำหนด ต้องปิดเรียน ซึ่งขณะนี้มี 28 จังหวัด และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงและขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

 

2.ให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างที่เกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน ยู.เอช.ที. แทน ผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนพาสเจอไรส์ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/หน่วยงำนจัดซื้อ หรือ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นมโรงเรียน)

 

3. มีมาตรการเป็นการเร่งด่วน เพื่อระบายผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิด ยู. เอช. ที. คงเหลือจากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 (รอบแรก) ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิด ยู. เอช.ที. เอาไว้ทั้งหมด เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม มีสต๊อกคงเหลือจำนวนมาก ทำ ให้ไม่สามารถรับน้ำ นมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้

 

“ในตอนแรกคุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นัดที่จะแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในวันพรุ่งนี้ ล่าสุดเพิ่งได้รับแจ้งว่า “ยกเลิก” เกษตรกร จึงจำเป็นที่จะต้องออกมาเคลื่อนไหว หลังจากทราบชะตาชีวิตแล้วว่า ถูกลอยแพ ไม่ได้รับการดูแล ”

 

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

 

ล่าสุด นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต  อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงความก้าวหน้าการดำเนินการขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564 งบกลาง สำหรับโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม  เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 กรมปศุสัตว์ได้ประสานกับ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) ดังนี้

 

1.กรมบัญชีกลาง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารโดยทั้ง 2 หน่วยงาน มีแนวโน้มที่จะตอบเห็นชอบตามข้อเสนอโครงการ

 

2.สำนักงบประมาณ ประสานกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และส่งข้อมูลเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางสำนักงบประมาณแจ้งว่าจะต้องทำเรื่อง เรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อน แล้วจึงจะส่งเรื่องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการ (สลค.) ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องส่งเรื่องให้ สลค.ใหม่ โดยมีหนังสือจาก 3 หน่วยงาน แนบไปด้วย ดังนั้นหากสามารถเร่งรัดให้ทั้ง 3 หน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงบประมาณ ให้มีหนังสือตอบเห็นชอบตามข้อเสนอได้ ภายในวันที่  4-7 มกราคมนี้ กรมปศุสัตว์จะเร่งเสนอเรื่องให้ลงนามในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้สามารถส่งเรื่องให้ สลค.ในวันจันทร์ที่ 11 มกราคมนี้ เพื่อบรรจุวาระที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 มกราคม 2564

 

“กรมปศุสัตว์ ทำงานเต็มที่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ  ขอให้พี่น้องเกษตรกร ใจเย็น โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ทราบปัญหาความเดือดร้อนแล้ว ท่านก็พยายามช่วยเหลือทุกวิถีทาง”

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

520 ล้านกล่องเคว้ง นมโรงเรียน ลุ้นครม.ไฟเขียวช่วย4พันล.

กระทุ้งรัฐเพิ่มวันเด็กดื่มนมโรงเรียน 365 วัน