ท่องเที่ยวปี 64 ‘วัคซีน’ เป็นคำตอบ ระยะสั้นอยู่รอด รัฐต้องอุ้ม 

11 ม.ค. 2564 | 19:30 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2564 | 03:43 น.

โควิด-19 ระลอกใหม่  ส่งผลให้เป้าหมายการท่องเที่ยวปี 64 ที่วางไว้ว่าไทยจะมีรายได้กว่า 1.2 ล้านล้านบาท ต้องสั่นสะเทือนตั้งแต่ต้นปี การที่ธรกิจจะอยู่รอด ‘วัคซีน’ เป็นคำตอบ ทั้งระยะสั้นอยู่รอด รัฐต้องอุ้ม 

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่  ส่งผลให้เป้าหมายการท่องเที่ยวปี 64 ที่วางไว้ว่าไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งต่างชาติเที่ยวไทยและการเดินทางเที่ยวในประเทศ รวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ต้องสั่นสะเทือนตั้งแต่ต้นปี

จากการชะงักงันของการท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่เบื้องต้นจะได้รับผลกระทบร่วม 2 เดือน ขณะที่แผนทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ก็ต้องสะดุดไปไม่ต่างกัน ธุรกิจท่องเที่ยวในปีนี้ จะอยู่กันอย่างไรต่อไป 2 บิ๊กสมาคมท่องเที่ยวเปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ”

 

วัคซีนเป็นคำตอบ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า แนวโน้มของธุรกิจท่องเที่ยวในปี64 ณ วันนี้ “วัคซีน” เป็นคำตอบโควิด-19 เป็นเหตุสุดวิสัย คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะจบเมื่อไหร่ และการแพร่ระบาดจะยังคงลุกลามไปเรื่อย หรือจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ อย่างในไทยหรือในต่างประเทศ พอมีเกิดการระบาดระลอกใหม่ ก็ทำให้คนหวาดกลัวการเดินทางท่องเที่ยว

 

ดังนั้นวัคซีน จึงเป็นตัวแปรสำคัญ ว่า คนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนได้ทั่วถึงเมื่อไหร่ ซึ่งคงต้องใช้เวลาพอสมควร ส่วนในต่างประเทศ เมื่อฉีดแล้ว จะกล้าเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยหรือเปล่า ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่คิดว่าต้องมารอจนถึงมีวัคซีน เพราะคิดว่าไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้าไทยเรามีระบบติดตามตัว ไทยก็จะทยอยปลดล็อกให้ต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยได้เพิ่มขึ้น

 

ท่องเที่ยวปี 64 ‘วัคซีน’ เป็นคำตอบ ระยะสั้นอยู่รอด รัฐต้องอุ้ม 

 

แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย ก็ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในปี64 จะยังคงอยู่ในสภาวะทรงตัว ยังไม่เห็นภาพของการฟื้นตัว รัฐบาลก็มีแนวโน้มชลอการเปิดรับนักท่องเที่ยวออกไป โดยรอดูหลังไตรมาส1ปี64 

 

การขับเคลื่อนการเดินทางเที่ยวในประเทศก็ยังคงหัวใจสำคัญที่รัฐต้องออกมาผลักดันเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีเรื่องภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชลอตัว ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ก็ทำให้เกิดการยกเลิกห้องพักไปเป็นจำนวนมาก

 

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

 

คงต้องรอให้รัฐคุมการแพร่ระบาดได้ก่อน และ จุดโฟกัสคงต้องมุ่งเน้นไปที่กลุ่มข้าราชการ มากกว่าเอกชน ซึ่งการที่รัฐบาลประกาศวันหยุดราชการเพิ่ม ทั้งการเพิ่มวันหยุดราชการ และเพิ่มวันหยุดราชการประจำภูมิภาค ให้ข้าราชการเดินทางไปเที่ยว เพราะที่ผ่านมาในทุกวันหยุด จะเกิดการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกเทศกาล

 

สำหรับภาคธุรกิจการปรับตัวในปี 64 ก็จะมีทั้งธุรกิจที่ปิดให้บริการไปก่อน รอการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว  โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวระดับเอสเอ็มอี เพราะทนมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา คงไม่สามารถประคองธุรกิจได้ต่อ การจะไปกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง ธุรกิจท่องเที่ยวก็ไม่มีใครอยากกู้ เพราะจะเป็นหนี้เพิ่มแน่นอน เมื่อรายได้ไม่เข้ามาเหมือนก่อน 

 

ส่วนธุรกิจที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่ ก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย เช่นการยืดหยุ่นการรับจอง การทำตลาดผ่านโซเชี่ยลที่ตอบโจทย์คนไทย การรักษาฐานลูกค้าเดิม เพื่อบริหารกระแสเงินสด และการดาวน์ไซซ์องค์กรเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

เพราะในปี 64 ลูกค้าก็ยังน้อย มีดีมานด์ของตลาดไม่ถึง50% ธุรกิจต้องดูว่าจะบริหารองค์กรอย่างไร ให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ ทั้งต้องดูจุดแข็งขององค์กร ว่ามีดีอะไร เช่น อาหาร เพื่อสร้างรายได้จากจุดแข็งที่มี เป็นต้น 

 

โควิดระลอกใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการประเมินว่าจากเดิมคาดว่าธุรกิจจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกลางปี2564 แต่สถานการณ์ขณะนี้น่าจะกระทบไปถึงสิ้นปี 2564 ทำให้โรงแรมที่กลับมาทยอยเปิดแล้ว ก็อาจจะต้องกลับมาปิดให้บริการอีกครั้ง 

 

ขณะเดียวกันทีเอชเอ ก็ยังอยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้ธุรกิจโรงแรมยังสามารถพอประคองตัวอยู่ได้ เพื่อรอให้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว โดยเราได้เสนอ 4 มาตรการเยียวยาเพิ่มเติม ทั้งชำระหนี้ ส่วนหนี้คงเหลือเดิมขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นคงที่ 2% วอนสนับสนุนซอฟต์โลนไม่เกินรายละ 60 ล้านบาทต่อโรงแรมเพิ่มสภาพคล่อง ขอสนับสนุนการจ่ายเงินเดือน 50% แบบCo-payment วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท รักษาการจ้างแรงงาน 2 แสนคน

 

ระยะสั้นอยู่รอดรัฐต้องอุดหนุน

 

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้รัฐบาลจะไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ แต่จากมาตรการต่างๆก็ไม่เอื้อให้คนเดินทางท่องเที่ยว เพราะคงไม่มีใครอยากไปเที่ยวแล้วต้องถูกกักตัว 14 วัน ซึ่งผลกระทบจะยาวนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลว่าจะเร็วหรือช้าแค่ไหน 

 

ธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส1และ2 ปีนี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก หนทางเดียวที่จะอยู่รอดได้คือต้องได้รับการอุดหนุนและเยียวยาจากรัฐบาล ให้ธุรกิจท่องเที่ยวพอจะเหลืออยู่รอดได้บ้าง ไม่ใช่ตายไปทั้งหมด เพราะมั่นใจว่าเมื่อทั่วโลกคุมการระบาดได้ ยังไงนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะกลับมาเที่ยวไทย

 

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์

 

สิ่งที่สทท.อยากจะร้องขอจากรัฐเร่งด่วน คือ การเข้ามาช่วยเหลือระยะเร่งด่วน หรือระยะสั้นในช่วงนี้ก่อน ไม่ว่าจะเป็น การขอให้รัฐสนับสนุนงบผ่านสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลาง และขนาดย่อม (สสว.)สนับสนุนงบสำหรับการฝึกอบรม-ทักษะแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว กระจายไปตามสมาคมต่างๆทั่วทุกภูมิภาค คนละ 300 บาท

 

การขอให้รัฐบาลพิจารณาให้ธุรกิจท่องเที่ยวในสาขาอื่นๆเช่น สปา ธุรกิจนำเที่ยว เรือนำเที่ยว มัคคุเทศก์ สามารถนำโปรดักต์เข้าไปร่วมมีในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เหมือนเช่นโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน โดยมีสทท.ช่วยคัดกรองโปรดักต์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีรายได้ เพื่อเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เพราะการจะหวังการขอซอฟท์โลนสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวเป็นเรื่องยาก เราจึงอยากได้โอกาสในการขาย

 

การขอให้ช่วยส่งเสริมและลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยจ้างนักศึกษาจบใหม่ด้านนิเทศศาสตร์ มาสร้างคอนเทนต์ด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสามารถนำไปใช้ประชาสัมพันธ์โครงการต่อได้ โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์มาใช้ในการโปรโมทแหล่งท่องเที่ยว 

 

การขอสนับสนุนให้สทท.ทำมาร์เก็ตเพลส ที่อาจจะเริ่มจาก B2B ก่อนขยายโอกาสสร้างช่องทางตลาด เพื่อให้ธุรกิจพออยู่ได้ โดยไม่เสียค่าคอมมิชั่นให้ต่างชาติ

 

นอกจากนี้เรายังมองถึงการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในระยะต่อไป โดยผมมองว่าจะทำเรื่องของ “ทัวริสซึม คลีนิค” ใช้ภาคการท่องเที่ยวเป็นหมอรักษา ฟื้นฟูธุรกิจและสภาพคล่อง โดยจัดทำโครงการนี้เพื่อให้สภาอุตสาหกรรมต้องรับฟังและเข้าใจเอกชนภาคการท่องเที่ยวอย่างถ่องแท้ ผ่านสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวแต่ละจังหวัด

 

เพราะหากวันนี้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่รับฟังความเห็นของสมาคมท่องเที่ยวแต่ละจังหวัด ก็เปรียบเสมือนหมอที่ไม่รับฟังผู้ป่วยรวมถึงการจัดทัวร์ริสซึม แพลตฟอร์ม  เพื่อสร้างความมั่นใจแก่สมาชิกและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว 

 

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยวิ่งตามหลังนวัตกรรมต่างชาติ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมี National Platform หรือ แพลตฟอร์มของชาติ หรือ พื้นที่ส่งเสริมการขายออนไลน์สำหรับ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยและรักษาผลประโยชน์ของชาติ

วันนี้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็ต้องสู้โควิด-19 คือแรงผลักดัน สู้เพื่อการท่องเที่ยวไทย มั่นใจประเทศไทยมีจุดแข็งในตัว และพร้อมยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยก้าวสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,643 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รับได้ไหม ชง Hotel Quarantine ต่างชาติกักตัวในห้องพักลดเหลือ 10 วัน

เบรกแผนเที่ยว ในประเทศ 2 เดือน ร้องรัฐอุดหนุน 4 ข้อ