นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ช่วงปลายปี 2563 กรมฯ ได้รับข้อร้องเรียนว่ามีผู้นำเข้ามะพร้าวกระทำผิด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมฯ กำหนด โดยนำมะพร้าวที่นำเข้าไปจ้างกะเทาะนอกโรงงานของตนเองในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดราชบุรี ซึ่งการกระทำดังกล่าวผิดเงื่อนไขการนำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบ AFTA ดังนั้น กรมฯ จึงได้มอบหมายพาณิชย์จังหวัดทั้ง 2 จังหวัด เพิ่มความเข้มข้นและความถี่ในการตรวจสอบ หากพบว่ามีผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กรมฯ จะพิจารณาพัก/เพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าต่อไป
สำหรับการนำเข้ามะพร้าวผลปัจจุบันมีการนำเข้า 2 กรอบ คือภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก(WTO) และ และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) โดยกรอบ WTO ในโควตาปริมาณไม่เกินปีละ 2,317 ตัน ภาษีร้อยละ 20 ให้นำเข้ามกราคม-กุมภาพันธ์ และกันยายน-ธันวาคม แต่สำหรับนอกโควตา ไม่จำกัดปริมาณ ภาษีร้อยละ 54 ซึ่งการนำเข้ากรอบ WTO ทั้งในและนอกโควตาผู้นำเข้าสามารถจ้างกะเทาะนอกโรงงานได้ แต่ต้องจัดทำทะเบียนเครือข่ายผู้กะเทาะมะพร้าว (รายย่อย) พร้อมให้ข้อมูลทะเบียนรถที่ใช้ในการขนส่งที่รับมะพร้าวไปกะเทาะ และรายงานให้พาณิชย์จังหวัดใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบย้อนกลับกับเอกสารใบขนย้ายมะพร้าว เพื่อป้องกันไม่ให้มะพร้าวนำเข้าหมุนเวียนในตลาดภายในประเทศ
ส่วนในกรอบ AFTA การนำเข้าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ภายในประเทศ ห้ามนำไปจ้างกะเทาะนอกโรงงาน ต้องรายงานบัญชีสมดุลแปรสภาพมะพร้าวผลเป็นเนื้อมะพร้าวขาว และให้นำเข้าช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ และกันยายน-ธันวาคม เป็นต้น นอกจากนี้ การนำเข้ามะพร้าวทั้ง 2 กรอบความตกลงดังกล่าว ต้องนำเข้า ณ ด่านสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง เท่านั้น
ทั้งนี้ ปี 2563 ไทยมีการนำเข้ามะพร้าวผลกรอบ AFTA เพียง 9,400 ตัน คิดเป็นร้อยละ 2.65 ของการนำเข้าทั้งหมด โดยล่าสุดราคามะพร้าวเฉลี่ยทั่วประเทศ ผลใหญ่ 17.29 บาท ผลคละ 14.21 บาท และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลใหญ่ 21-24 บาท ผลกลาง 11-12 บาท ซึ่งกรมฯ ยังคงมีการตรวจสอบ และคุมเข้มติดตามการนำเข้ามะพร้าวอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคามะพร้าวภายในประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งท่าก่อหวอดไม่พอใจสัดส่วนนำเข้ามะพร้าวใหม่
"อังกฤษแบนกะทิไทย" ผวาพ่อค้าฉวยจังหวะนำเข้ามะพร้าวอินโดฯ เลี่ยง "ลิงเก็บมะพร้าว"