รับข้อเสนอเอกชน ถก "บิ๊กตู่" ตั้งกองทุนท่องเที่ยวแสนล้าน

09 ม.ค. 2564 | 00:00 น.

รมว.ท่องเที่ยว รับ 4 ข้อเสนอสมาคมโรงแรม ร้องขอเยียวยา พิษโควิดระลอกใหม่ หารือ บิ๊กตู่ 12 ม.ค.นี้ ปัดฝุ่นตั้งกองทุนช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว วงเงิน 1แสนล้านบาทกลับมาพิจารณาใหม่

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ภาคการท่องเที่ยวสะดุดลง เนื่องจากการเดินทางชะลอตัวหรือหยุดชะงักไป 

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงได้หารือร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ว่าเมื่อเกิดการกระเพื่อมขึ้นมาอีกครั้งของไวรัส ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวมีอะไรบ้าง

 โดยเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ 4 เรื่อง และได้ยื่นหนังสือเข้ามาถึงตนเองเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทรงกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะนำข้อเสนอทั้งหมดหารือร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 มกราคมนี้

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ภาคเอกชนต้องการให้ช่วยเหลือ ได้แก่ 1.การร่วมกันจ่ายค่าจ้างให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยว ในลักษณะร่วมกันจ่ายระหว่างรัฐบาลและเอกชน หรือโคเพย์ (Co-pay) ในสัดส่วนฝ่ายละ 50% จำนวนเงินไม่เกิน 7,500 บาท เพื่อรักษาอัตราการจ้างงานไว้

2.การขยายเวลาใช้สิทธิจองห้องพักในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งมีการจองเข้ามาในช่วงก่อนปีใหม่ 2564 หรือก่อนเกิดการระบาดรุนแรงที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ขยายใช้ได้ตั้งแต่ 6-12 เดือน 

ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับระบบของธนาคารกรุงไทย ให้ปลดล็อกเงื่อนไข เพื่อให้ผู้ใช้สิทธิสามารถเลื่อนได้ พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ 40% ด้วย ซี่งขอเวลาดำเนินการ 1 เดือน 

รวมถึงมีปัญหาในส่วนของผู้ใช้สิทธิบางรายต้องการยกเลิกการจองห้องพักและไม่เดินทางท่องเที่ยวแล้ว ซึ่งทางโรงแรมบางส่วนพร้อมคืนเงินจองในอัตรา 60% ให้ แต่ติดในเรื่องค่าธรรมเนียมการโอน จะเป็นการรับผิดชอบของฝ่ายใด 

รับข้อเสนอเอกชน ถก \"บิ๊กตู่\" ตั้งกองทุนท่องเที่ยวแสนล้าน

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รับเป็นผู้เจรจาร่วมกับเว็บไซต์ตัวแทนจำหน่ายท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) ว่าจะสามารถคืนค่าธรรมเนียมที่ 2% ให้ได้หรือไม่ 

3.การช่วยลดค่าไฟฟ้าในอัตรา 15% ต่อหน่วย ไม่จำกัดปริมาณการใช้ไฟของโรงแรมแต่ละแห่ง 

4.การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน

การช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงซอฟท์โลนได้ง่ายมากขึ้นนั้น มีการหารือร่วมกันมาตั้งแต่การระบาดโควิด-19 รอบแรก ซึ่งนอกจากการช่วยเรื่องการเข้าถึงแล้ว จะย้อนไปพิจารณาในเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว วงเงิน 1แสนล้านบาทที่เอกชนร้องขอ

โดยจะพยายามหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ในการจัดตั้งกองทุน เพื่อดูแลผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สมาคมโรงแรมไทย ได้ขอความร่วมมือ และมีแนวทางปฏิบัติให้กับผู้ประกอบการ ในการอนุญาตให้ลูกค้าที่ใช้สิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เลื่อนการจองออกไปก่อน

 ส่วนการคืนเงินการจอง 60% กลับให้ลูกค้านั้น ถือว่าขึ้นอยู่กับการดุลยพินิจของผู้ประกอบการแต่ละราย 

ขณะที่มองว่า เราเที่ยวด้วยกัน จากที่รัฐบาลขยายโครงการให้จนถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ หากสามารถขยายได้จนถึงสิ้นปี 2564 จะถือเป็นเรื่องที่ดีมาก 

ทีเอชเอ

เพราะตอนนี้ไม่มีโครงการกระตุ้นหรือมาตรการใด ช่วยดึงให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ดีเท่าโครงการนี้แล้ว 

นอกจากนี้ ยังมีโรงแรมบางส่วนที่ยังไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการตามปกติได้ เนื่องจากรายได้ยังไม่กลับมา และพอมาเจอการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ขึ้น ก็ทำให้อาจมีบางส่วนต้องปิดตัวลง 

ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลในส่วนของสำนักประกันสังคม ช่วยเหลือในด้านการจ่ายเงินสมทบให้กับแรงงานที่ต้องถูกเลิกจ้าง เนื่องจากผู้ประกอบการโรงแรมต้องปิดตัวลง

ส่วนมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธุรกิจโรงแรม ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ และหากสถานการณ์ยังไม่สามารถจบลงได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์) เชื่อว่าจะมีเอกชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดตัวลงเพิ่มเติม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อั้นไม่ไหวโควิดระลอกใหม่ โรงแรมขอเยียวยาเพิ่ม วอนรัฐช่วยจ่ายเงินเดือน50%

ชงตั้งกองทุนแสนล.ดึงเงินร่วมลงทุนฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวโคม่า

เที่ยวไทย ไตรมาส 1 ซบ ขยายเวลา "เราเที่ยวด้วยกัน"