4 ชาติคว่ำร่างศึกษา “เขื่อนสานะคาม”

18 ม.ค. 2564 | 05:43 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2564 | 05:54 น.

สทนช.เผย 4 ชาติ ลุ่มน้ำโขง ตีตกร่างรายงานการทบทวนทางเทคนิค “เขื่อนสานะคาม” หลังข้อมูลผลกระทบประเทศท้ายน้ำไม่ชัดเจน

 

วันที่ 18  มกราคม 2564  ประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคคณะกรรมการร่วม (JCWG) ของสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และไทย ครั้งที่ 2  ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามของ สปป.ลาว (PNPCA) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

 

 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยว่า ในที่ประชุุมได้มีประเด็นหารือที่สำคัญ คือ การพิจารณาร่างรายงานการทบทวนทางเทคนิค (TRR) เขื่อนสานะคาม ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำกลับไปทบทวนในรายละเอียดให้รอบด้านอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ยังมีข้อสรุปที่ได้ยังไม่มีความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมที่ให้ประเทศสมาชิกเกิดความมั่นใจต่อโครงการดังกล่าวได้ โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนที่ส่งกระทบกับประเทศไทยโดยตรง ซึ่งไทยได้เสนอข้อคิดเห็นไปยังประเทศผู้พัฒนาโครงการและสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ในหลายประเด็นสำคัญ


 

โดยเฉพาะข้อมูลที่ชัดเจนด้านอุทกวิทยาและระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน เนื่องจากจุดที่ตั้งของเขื่อนที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งอยู่บริเวณโค้งน้ำที่ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะร่องน้ำลึกที่อาจส่งผลกระทบต่อเขตแดนไทย-ลาว ดังนั้น จำเป็นต้องมีความชัดเจน และกรณีการปล่อยน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากหรือการดำเนินการอื่น ๆ ของเขื่อนสานะคามเมื่อระดับน้ำผันผวนอาจส่งผลกระทบต่อท้ายน้ำ แม้ว่าในรายงานทางเทคนิคจะมีการสร้างแบบจำลองทางกายภาพมานำเสนอ แต่มีการประเมินทางต้นน้ำจากตัวเขื่อน 2.5 กิโลเมตร และท้ายน้ำ 1.7 กิโลเมตร โดยไม่ครอบคลุมพื้นที่ท้ายน้ำที่อาจได้รับผลกระทบ

 

 

ขณะเดียวกัน ยังต้องนำข้อมูลการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนปากลาย และเขื่อนไซยะบุรีมาพิจารณาด้วย เนื่องจากมีผลต่อการระบายน้ำเช่นกันที่จะทำให้การวิเคราะห์ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างรอบด้านให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการกระจายตัวของตะกอน ซึ่งจากการนำเสนอจากการทดสอบแบบจำลองทางกายภาพ พบว่า การระบายน้ำส่งผลให้เกิดตะกอนที่แตกต่างจากสภาพธรรมชาติ ทั้งในด้านลักษณะและปริมาณตะกอนที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรงซึ่งตั้งอยู่ท้ายน้ำ และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำลึก ซึ่งทั้งประเทศไทย และสปป.ลาวใช้เป็นเส้นเบ่งเขตพรมแดน และต่อการเดินเรือ

รัฐบาลลาว

 

 

ฝ่ายไทยได้ขอให้ทาง MRCS วิเคราะห์ผลกระทบและระบบติดตามตรวจสอบตะกอนและสัณฐานวิทยาของแม่น้ำด้านท้ายน้ำ ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อนิเวศวิทยาทางน้ำและการประมง ด้านเศรษฐกิจสังคมที่จะกระทบประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างรอบคอบ รวมถึงมาตรการในการลด หลีกเลี่ยง และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

 

 

เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อไปอีว่า ที่ผ่านมาฝ่ายไทยพบว่าข้อมูลโครงการไม่เพียงพอที่จะนำไปแจ้งกับภาคประชาชนในพื้นที่ และได้เรียกร้องผ่าน MRCS ให้ผู้พัฒนาโครงการปรับปรุงข้อมูลมาโดยตลอด ประกอบกับสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้กระบวนการ PNPCA ล่าช้าไปบ้าง แต่ไทยพยายามที่จะดำเนินการตามแผนงาน (Roadmap) มาโดยตลอดทั้งระดับปฏิบัติการ คือ การหารือภายในกับหน่วยงานทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง

 

 

ตลอดจนระดับนโยบายที่มีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน แต่เป็นเพียงสร้างการรับรู้ในหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น แม้จะได้เชิญผู้แทน 8 จังหวัดแม่น้ำโขงเข้าร่วมเวทีผู้มีส่วนได้เสียระดับภูมิภาคเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแต่ยังจะต้องจัดเวทีให้ข้อมูลประชาชนที่อาจได้อาจรับผลกระทบ จึงคาดหวังว่าการจัดเวทีให้ข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงตามกระบวนการ PNPCA ของโครงการสานะคามจะเกิดขึ้นได้ตามขั้นตอน

 

เขื่อน “เขื่อนสานะคาม”

 

เมื่อมีข้อมูลเพียงพอที่สามารถชี้แจงกับประชาชนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงมาตรการเชิงป้องกันและบรรเทาผลกระทบข้ามแดนที่อาจเกิดขึ้นต่อลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม ในร่างรายงานการทบทวนทางเทคนิค (TRR) ให้ประเทศสมาชิกพิจารณาอีกครั้งก่อนนำไปสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป ดังนั้น กระบวนการสร้างการรับรู้ข้อมูลของข้อเสนอการสร้างเขื่อนสานะคามของประเทศไทยต้องเลื่อนออกไปเช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ห้ามไม่ได้จริงๆ "ชาวนา" ปลูกข้าวเกินแผนพุ่ง 2.6 ล้านไร่

เปิดจดทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำต้นปี 64

เปิด QR Code รับสมัคร ผลิตน้ำจืดจากทะเลป้อน EEC