ล่าสุดคณะผู้ทำแผนบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ได้ยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอขยายเวลาส่งแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อเจ้าหน้าที่พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ออกไปอีก 1 เดือน จากวันที่ 2 ก.พ.64 ไปเป็นไม่เกินวันที่ 2 มี.ค.64 โดยเป็นการขยายเวลาส่งแผนครั้งที่ 2
ที่จะเป็นครั้งสุดท้าย ตามกระบวนการที่การบินไทยมีสิทธิขยายเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน จากก่อนหน้านี้ได้มีการขอขยายเวลาจากวันที่ 2 ม.ค.64 ไปเป็นวันที่ 2 ก.พ.64
การขยายเวลาส่งแผนฟื้นฟูครั้งล่าสุดที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดจากการจัดทำแผนที่ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากแผนจัดทำแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.63 แต่ทางคณะผู้ทำแผนต้องการขอยืดเวลาออกไปอีก 1 เดือนเพื่อทำให้แผนมีความสมบูรณ์ เนื่องจากต้องการจ้างพี่ปรึกษาทางการเงิน มาช่วยด้านการเงินและการบัญชีของบริษัท ในการจัดทำโครงสร้างทางการเงิน โครงสร้างเงินทุนและผู้ถือหุ้น การวิเคราะห์กระแสเงินสด วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินทั้งในปัจจุบันและอนาคตของการบินไทย เพื่อใช้ประกอบการจัดทำแผนฟื้นฟูฯ
เนื่องจากบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) ที่เดิมเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาทำงานคู่กับบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซสมาก่อน แต่ทางฟินันซ่าได้หมดสัญญาไป และมองว่าอีวายฯไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ทั้งๆที่อีวายฯก็สามารถทำได้
การบินไทยจึงได้เชิญ 3 สถาบันการเงินเข้ามายื่นเสนอตัว ได้แก่ 1.ธนาคารไทยพาณิชย์ 2.เกียรตินาคินภัทร (KKP)และ3.ธนาคารดอยซ์แบงก์ โดยทางดอยซ์แบงก์ เสนอราคามาตํ่าที่สุด แต่ต้องมีการจ้างเพิ่มเติมอีก ขณะที่ทางเกียรตินาคินภัทร เสนอราคามาอยู่ที่เดือนละ 8 ล้านบาท ส่วนไทยพาณิชย์เสนอมาเดือนละ30 ล้านบาท
จึงทำให้เกียรตินาคินภัทร ได้รับการคัดเลือก ซึ่งการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน มาทำหน้าที่แทนฟินันซ่า ผู้ทำแผนทุกคนเห็นด้วยในเรื่องนี้ แต่กลับมีการพูดถึงเรื่องที่จะจ้างให้ทางเกียรตินาคินภัทร เข้ามาหาเงินทุนให้การบินไทย 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากหาเงินทุนให้การบินไทย ก็จะได้รับเงินตอบแทน 1.9% จาก 3 หมื่นล้านบาท หรือราว 570-630 ล้านบาท
จากการเปิดประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการโต้แย้งกันขึ้นระหว่างผู้ทำแผนฟื้นฟู และในทางกฎหมายก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขั้นตอนในขณะนี้คือการทำแผนฟื้นฟู ที่ต้องผ่านความเห็นชอบก่อน การจัดหาแหล่งเงินทุนหรือผู้ลงทุนรายใหม่ จะดำเนินการว่าจ้างได้ก็ต่อเมื่อแผนฟื้นฟูได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลแล้วเท่านั้น ดังนั้นปมในเรื่องนี้จึงไปต่อไม่ได้ และเสียเวลาในเรื่องนี้ไปร่วม 1 เดือนที่ผ่านมา
การว่าจ้างที่เกิดขึ้นจึงเป็นการจ้างในลักษณะที่ปรึกษาทางการเงิน ในช่วง1-2 เดือน เพื่อประกอบการจัดทำแผนฟื้นฟู ก่อนส่งแผนฟื้นฟูให้ศาลพิจารณา
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)เผยว่า การยืดเวลาส่งแผนฟื้นฟูออกไปอีก 1 เดือน ยังไม่กระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทในช่วงนี้ เนื่องจากสภาพคล่องของการบินไทย ยังสามารถอยู่ได้ถึงเดือนพฤษภาคมนี้ และถ้าจำเป็นการบินไทยสามารถขายทรัพย์สินเพิ่มเติมได้ เนื่องจากการบินไทยได้ไปร้องขอต่อศาลล้มละลายกลาง และได้รับอนุญาตให้ขายทรัพย์สิน ใน 4 รายการ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงานในขณะนี้ได้ ได้แก่
1. การขายหุ้นบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด หรือ (BAFS) ซึ่งล่าสุดการบินไทยได้ขายหุ้นออกไปจำนวน 15.52% เหลือ 7.05% ได้เงินเข้ามา 2.7 พันล้านบาท 2.ขอขายหุ้นบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันการบินไทย ถืออยู่ 13.28% 3.ขายเครื่องยนต์เครื่องบิน 5 เครื่องยนต์ และ 4.ขายที่ดิน 19 ไร่ บริเวณหลักสี่ ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ลูกเรือ ซึ่งเดิมมีคนมาเสนอซื้อแล้ว ถ้าขายได้ก็จะได้เงินเข้ามาอีกราว 2 พันล้านบาท
ต่อเรื่องนี้นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัท และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการบินไทย ไม่จ้างทางเกียรตินาคินภัทร ด้วยค่าจ้างสูงถึง 630 ล้านบาท และ ณ วันนี้ก็ยังไม่จ้างถึงขั้นนั้น
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,648 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การบินไทย ยืดส่งแผนฟื้นฟูอีก1เดือน แจงจ้างที่ปรึกษาการเงิน 630 ล้านไม่จริง
การบินไทย ขายทิ้งหุ้น BAFS 15.53% ได้เงิน 2.7 พันล้านต่อลมหายใจ
"ชาญศิลป์" ยันยื่นแผนฟื้นฟูการบินไทย ได้ตามกำหนดเวลา
ศาลฯให้ขยายเวลาส่งแผนฟื้นฟู "การบินไทย" ไปเป็น 4 ก.พ.64
"ชาญศิลป์" แจงยืดส่งแผนฟื้นฟูการบินไทย ดันแผน5ปีพลิกกำไรปี68