วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหากาฬโรคแอฟริกาในม้า ครั้งที่ 1/2564 และคณะกรรมการพิจารณาการใช้วัคซีนกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ครั้งที่ 1/2564 พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้เชี่ยวชาญ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
กองสารวัตรและกักกัน สำนักกฎหมาย กองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กองคลัง ภาคมหาวิทยาลัย (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มหิดล ขอนแก่น) ภาคเอกชน สมาคม ผู้ประกอบการ ผู้เลี้ยงม้า หน่วยม้าทรงประจำพระองค์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด 31 ม.ค. 64 พบโรคใน 17 จังหวัด ม้าป่วยสะสม 610 ตัว ตายสะสม 568 ตัว เกิดโรคครั้งสุดท้าย 10 ก.ย. 63 จังหวัดปราจีนบุรี กรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการและจัดทำแผนปฏิบัติการกำจัดโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการทำ MOU การสำรวจโรคในม้าลาย ในแมลงพาหะ การอบรมให้ความรู้เกษตรกรหรือผู้เลี้ยงม้า การขึ้นทะเบียนสัตว์ การเข้มงวดควบคุมการเคลื่อนย้ายม้า
การเฝ้าระวังโดยการใช้ sentinel ในพื้นที่ จากการสำรวจทั่วประเทศมีม้า 18,557 ตัว เจ้าของ 3,380 ราย ล่อ 76 ตัว เจ้าของ 18 ราย ลา 50 ตัว เจ้าของ 9 ราย ม้าลาย 525 ตัว เจ้าของ 25 ราย ได้ทำการฉีดวัคซีนแล้ว 3 รอบ ในพื้นที่ 27 จังหวัด ฉีดได้ 10,330 ตัว จากเจ้าของ 1,597 ราย จากการเฝ้าระวังติดตามผลพบม้าที่ได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าระดับภูมิคุ้มกันยังอยู่ในระดับที่คุ้มโรคได้ แต่มีแนวโน้มลดลง ดังนั้นเพื่อให้มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง ที่ประชุมจึงให้พิจารณาการใช้วัคซีนกำจัดโรค AHS เพื่อการ Re-vaccination โดยใช้ AHS Vaccine ชนิด monovalent serotype 1 มีแผนกำหนดช่วงต้นเดือนมีนาคม 2564 เป้าหมายคือ สัตว์ที่ผ่านการฉีดวัคซีนครั้งที่ 1 ที่ยังอยู่ในพื้นที่ ลูกสัตว์ที่เกิดใหม่จากแม่ที่ฉีดวัคซีน และม้าที่เคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่ฉีดวัคซีน รวมทั้งหมด 12,000 ตัว
สำหรับในสัตว์กลุ่มเสี่ยงให้ฉีดวัคซีน polyvalent serotype 1,3,4 แทนในเดือนกุมภาพันธ์ 64 นี้ก่อนระหว่างรอการนำเข้าวัคซีนชนิด monovalent นอกจากนี้ ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานให้มีการเตรียมความพร้อมก่อนและหลังการฉีดวัคซีน เช่น การเจาะเลือด การนำเข้ามุ้ง การขึ้นทะเบียน โดยเน้นย้ำการกำจัดแมลงพาหะและการทำความสะอาด การติดตามหลังฉีด post-vaccination monitoring และการนำเข้าวัคซีน
ทั้งนี้ เพื่อร่วมมือกันให้โรคสงบเร็วที่สุด ในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันและกำจัดโรค พัฒนาระบบทางห้องปฏิบัติการและแอปพลิเคชั่น สามารถเข้าสู่ระยะต่อไป เพื่อขอคืนสถานภาพปลอดโรค AHS ของประเทศไทยจาก OIE ได้โดยเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งลุยล้างขบวนค้าม้าเถื่อนผิดกฎหมาย
เข้ม เฝ้าระวัง “กาฬโรคม้า” ช่วงฤดูฝน