สหภาพ "การบินไทย" ค้านปรับโครงสร้างองค์กร คัดพนักงานออก ให้เซ็นสัญญาใหม่

02 ก.พ. 2564 | 08:05 น.

สหภาพแรงงานฯการบินไทย แย้งกรณีการบินไทย ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ที่จะมีผลในวันที่ 18 ก.พ.นี้ และการคัดพนักงานออก ให้เซ็นสัญญาใหม่ ยันเดินหน้าคัดค้าน และขอหารือต่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ

ล่าสุดสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3/2564 แจ้งสมาชิกสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย ( สร.พบท.) โดยระบุว่า
 

สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่มีจำนวนสมาชิกที่เป็นลูกจ้างมากกว่าร้อยละ 20% ของลูกจ้างทั้งหมด ขอชี้แจงและมีความเห็นแย้งกับนโยบาย และไทม์ไลน์ที่บริษัทออกมาเพื่อบั่นทอนจิตใจของพนักงานอย่างสิ้นเชิง
 

เนื่องด้วยมีการออกไทม์ไลน์ใน TG update ลงวันที่ 31 มกราคม 2564 ความว่าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564  บริษัทฯ จะปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โครงสร้างเงินเดือนและค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ สรุปจำนวนพนักงานในแต่ละหน่วยงานรวมทั้ง Job description และ Job Qualifications ของตำแหน่งที่จะสมัครกลับเข้าทำงาน จากนั้นวันที่ 11 ถึง 19 มีนาคม 2564 จะเปิดให้พนักงานกลับเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ
 

( Re-Launch) ซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์กลาง (Coro Criteria) และหลักเกณฑ์ตามสายงาน(Function Criteria) สำหรับทุกตำแหน่งงาน โดยระหว่างวันที่ 22 - 26 มีนาคม 2564 จะดำเนินการพิจารณาคัดเลือก และในวันที่ 1 เมษายน 2564 ประกาศรายชื่อพนักงานที่ได้รับการคัดเลือกเข้าทำงาน ซึ่งพนักงานที่ผ่านการคัดเลือกจะเริ่มงานตามโครงสร้าง ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 นั้น
 

ดังนั้นสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย(สร.พบท.)ออกแถลงการณ์เพื่อคัดค้านและปกป้องสมาชิก สร.พบท.ดังนี้

 

การปรับโครงสร้างองค์กรต้องไม่กระทบสิทธิ์ของพนักงานระดับ 1 -7 ในทุกสายงานและทุก BU

1. เงินเดือน และค่าตอบแทน ต้องไม่กระทบสิทธิ์ของพนักงานระดับ 1 -7 ในทุกสายงาน และทุก BU เพราะพนักงานระดับ 1-7 เมื่อเปรียบเทียบการอัตราโครงสร้างเงินเดือนกับธุรกิจการบิน ถือได้ว่ามีฐานเงินเดือนต่ำกว่าในอุตสาหกรรมการบินในระดับสากล เนื่องจากบริษัทฯ มิได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนเป็นระยะเวลาหลายปีมาแล้วทั้งที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินเดือนในอุตสาหกรรมการบินมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และประเด็นที่สำคัญคือพนักงานระดับ 1-7 ซึ่งเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการยังคงเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่สร้างรายได้และสร้างกำไรให้บริษัทฯ ตลอดเวลาที่ผ่านมา และพนักงานระดับปฏิบัติการเหล่านี้ทุกคนก็ได้ร่วมให้ความร่วมมือในการเสียสละเพื่อช่วยองค์กรตามที่ผู้บริหารเรียกร้องมาโดยตลอด

 

 

2. การคุ้มครองสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ของพนักงานตามระเบียบบริษัทว่าด้วยการบริหารงานบุคคลทั้ง 19 ตอน ให้กับสมาชิกสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทยซึ่งพนักงานระดับ 1-7 เป็นหน้าที่ของ สร.พบท. และสร.พบท.ยืนยันที่จะขอให้บริษัทและคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ เคารพต่อระเบียบบริษัทฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลดังกล่าว และรวมถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง
 

3. การดูแลคุ้มครองเรียกร้องค่าขนย้ายฐานให้พนักงานอู่ตะเภาตามสิทธิ์ของพนักงานที่สมควรได้รับตามกฎหมาย ทั้งจากบริษัทฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
 

4.การคุ้มครองพนักงานกองทุนบำเหน็จทุกคนให้ได้รับสิทธิ์ในเงินกองทุนบำเหน็จตามสิทธิของพนักงานในกองทุนบำเหน็จ โดยเป็นไปตามระเบียบบริษัทว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 5 การจ่ายเงินบำเหน็จและเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน พ.ศ. 2537 โดยควรมีการคำนวณสิทธิการครอบครองเงินตามส่วนที่พนักงานแต่ละคนสมควรได้รับ และนำบรรจุในแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และที่ประชุมเจ้าหนี้ได้รับทราบถึงภาระที่บริษัทฯ มีอยู่ต่อพนักงานในกองทุนบำเหน็จแต่ละคน และแผนการจ่ายเงินจากกองทุนบำเหน็จในอนาคต
 

5. การคุ้มครองสมาชิก สร.พบท. ที่เลือกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในส่วนการจ่ายเงินสมทบให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพ.ศ 2530
 

6. การคัดค้านการรับพนักงานที่ได้รับการอนุมัติให้ออกไปตามโครงการ MSP A กลับเข้าทำงานเนื่องจากอาจจะขัดกับระเบียบบริษัทว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของบริษัทฯ รวมทั้งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บุคคลบางกลุ่มที่มีเส้นสายหรือพรรคพวกได้ จึงอาจเป็นการสนับสนุนระบบอุปถัมภ์และเป็นภัยต่อระบบธรรมาภิบาล

 

 

ทั้งนี้ การออกไทม์ไลน์มาเพื่อบันทอนขวัญกำลังใจพนักงาน และการคัดพนักงานออก และให้เซ็นสัญญาใหม่ สร.พบท. ขอคัดค้าน และขอหารือต่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ ทุกท่านในประเด็นดังต่อไปนี้
 

1. บริษัท ยังคงใช้ชื่อ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทฯ ยังไม่ได้เลิกกิจการและมิได้มีแผนฟื้นฟูกิจการฯโดยแบ่งแยก BU ออกเป็นบริษัทในเครือใช่หรือไม่
 

2. บริษัทฯ ยังมิได้แจ้งปิดกิจการชั่วคราว ซึ่งจะเป็นเหตุตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้บริษัทฯ สามารถจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนรายเดือนแก่ลูกจ้างได้ เพียงร้อยละ 75 ใช่หรือไม่
 

3. การปรับโครงสร้างองค์กร ในระดับปฏิบัติการ 1-7 ทั้งที่พนักงานยังคงทำงานให้มีเนื้องาน มีค่างาน จะถือได้ว่า ผิดสภาพการจ้าง เทียบเคียงคำพิพากษา 1808/2557 ด้วยหลักกฎหมายที่ว่า การจัดโครงสร้างองค์กร การปรับเปลี่ยนองค์กร การวางระบบ การบริหาร การวางกลยุทธ์ในการประกอบการ หรือการตลาดย่อมเป็นเอกสิทธิ์ของบริษัทหรือนายจ้างผู้เป็นเจ้าของกิจการและเป็นผู้ลงทุน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มกำไร หรือเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนก็ตาม แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร หรือการปรับเปลี่ยนการบริหารงานมีผลกระทบต่อลูกจ้าง ทำให้ต้องเลิกจ้างลูกจ้างข้ออ้างดังกล่าวจึงมิอาจทำได้เพราะขัดต่อข้อกฎหมาย ใช่หรือไม่
 

เดิมสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย โดยประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจฯ นายสรยุทธ หอมสุคนธ์ ในฐานะตัวแทนลูกจ้างพนักงานบริษัทการบินไทยฯ ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจกับตัวแทนฝ่ายบริหารของบริษัทการบินไทยฯ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ในการประชุมไตรภาคี ที่กระทรวงแรงงาน ในเรื่องการที่จะไม่มีการละเมิดสภาพการจ้างตามข้อบังคับของบริษัทฉบับใหม่ และได้มีการบันทึกความเข้าใจไว้ว่าจะมีการใช้ระเบียบบริษัทการบินไทยว่าด้วยการบริหารงานบุคคลเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น ตามบันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563

สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย

 

สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย

สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การบินไทย ยืดส่งแผนฟื้นฟูอีก1เดือน แจงจ้างที่ปรึกษาการเงิน 630 ล้านไม่จริง

"การบินไทย" ระงับบิน 2 เส้นทางในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.64

"ชาญศิลป์" แจงยืดส่งแผนฟื้นฟูการบินไทย ดันแผน5ปีพลิกกำไรปี68

พนักงานการบินไทย เฉียด 5 พันคน ร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร เออรี่รีไทร์ 1.91 พันคน


เขย่า “การบินไทย” ลดคน-ฝูงบิน