นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคักเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 รายได้ที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลลดการใช้จ่ายและการเดินทางท่องเที่ยว โดยประเมินว่าเทศกาลตรุษจีนปี 2564 จะมีเงินสะพัด 44,939 ล้านบาท ติดลบร้อยละ 21.85 การใช้จ่ายลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 57,639 ล้านบาท หรือติดลบสูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากการสำรวจเมื่อปี 2552 นอกจากนี้ยังพบว่า มีการกู้เงินมาใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนเพิ่มขึ้น จากปีที่แล้วที่กลุ่มตัวอย่างระบุว่าใช้เงินกู้เพียงร้อยละ0.4 แต่ปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 1.6 และมีการใช้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐช่วยได้เพียงเล็กน้อย เช่นโครงการเราคนละครึ่ง สำหรับสินค้าที่พบว่ามีการซื้อไข่ ธูปเทียน ดอกไม้เพิ่มขึ้น ส่วนพฤติกรรมการใช้จ่ายพบว่าซื้อสินค้าเดลิเวอรี่มากขึ้นจากปีก่อนที่ 0.5 เป็นร้อยละ 4.5 ส่วนใหญ่ใช้วินมอเตอร์ไซด์และแกรป
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงซึมจากปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากนี้ และส่งผลให้ประชาชนกลับมาใช้จ่ายดีขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังภาครัฐเริ่มอัดฉีดเงินเข้าระบบจากมาตรการ "เราชนะ" "เรารักกัน" แต่จากมาตรการดังกล่างวยังไม่สามารถชดเชยการใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนได้ แต่จะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้หลังจากนี้
"มูลค่าใช้จ่ายช่วงตรุษจีนที่หายไป 12,000 ล้านบาท มีผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หายไป 0.05-0.07% ซึ่น้อยมากและไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งปี สำหรับการอัดฉีดเงินจากมาตรการ "เราชนะ" "เรารักกัน" เข้ามาในช่วงปลายเดือนนี้ จะมีกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และถ้ารัฐยังมีมาตรการกระตุ้นออกมาต่อเนื่อง รวมถึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในช่วงกลางปีนี้ 4-6 ล้านคน น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสโตได้ประมาณ 3% แต่อย่างไรก็ดี หากไม่ได้เป็นที่ประเมินจีดีพีไทยคาดจะโตที่ 2.5%"