โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน)มากสุดในทุกวิกฤต โดยในปี2563 จะเป็นปีแรกที่บริษัทจะมีผลประกอบการขาดทุน
ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ที่อยู่ระหว่างลงทุน ก็เกิดการชะงักของการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมฯ เนื่องจากลูกค้าหลักคือกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีนไม่สามารถเดินทางเข้ามาในไทยได้
นายสุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของซี.พี.แลนด์ โดยก่อนเกิดโควิดในปี 62 ภาพรวมของ 7 กลุ่มธุรกิจ มีรายได้อยู่ที่ราว 2-3 พันล้านบาท กำไรอยู่ที่ราว 700 กว่าล้านบาท แต่เมื่อเกิดโควิด ส่งผลให้ในปี 63 จะขาดทุนครั้งแรกในรอบ38 ปี เนื่องจากรายได้ของบริษัท 1 ใน 3 มาจากโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุด
ส่วนธุรกิจที่อยู่ระหว่างลงทุน คือ นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี (จ.ระยอง)ที่ซี.พี.แลนด์ ร่วมลงทุนกับ บริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ปฯ พัฒนาพื้นที่กว่า 3 พันไร่ ลงทุนกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อรองรับการจัดตั้งโรงงานของกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ซึ่งก่อนหน้านี้มีนักลงทุนจากจีนแสดงความสนใจเข้ามาหลายราย
แต่เมื่อเกิดโควิด ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้ามาดูพื้นที่ได้ จึงยังไม่สามารถตัดสินใจได้ ส่งผลให้การขายพื้นที่ในนิคมฯเกิดการชะงักไป
“แม้ทั้ง 2 ธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่เรามองการลงทุนระยะยาว ดังนั้นซี.พี.แลนด์ ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจโรงแรมและลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการกลับมาหลังโควิด
โดยเรามั่นใจว่าการท่องเที่ยวของไทยก็จะกลับมา หลังการฉีดวัคซีนในไทยได้เพิ่มขึ้น แต่จะเป็นในลักษณะนักท่องเที่ยวต่างชาติจะค่อยๆทยอยเข้ามา จะให้เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิดคงต้องใช้เวลาพอสมควร เช่นเดียวกับกลุ่มจีนที่สนใจเข้ามาลงทุนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี เรามั่นใจว่าถ้าเขาเดินทางเข้ามาไทยได้ก็จะเข้ามาเจรจากับเราต่อแน่นอน”
ปัจจุบันโครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี การลงทุนในเฟส1 กว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนเรื่องของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบประปา , ระบบบำบัดน้ำเสีย ดำเนินการแล้วเสร็จเรียบร้อย
ส่วนในปีนี้จะเริ่มพัฒนาเฟส2 บนพื้นที่ราว 500-600 ไร่ อยู่ระหว่างป้อนโรงงาน ปรับพื้นที่ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าป้อนพื้นที่ในนิคมฯ ซึ่งได้มีการออกแบบไว้แล้ว
การลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า อาจจะเป็นการตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาทำโรงงานไฟฟ้า ซึ่งมีผู้สนใจเข้ามาร่วมลงทุนกับทางเราหลายราย เราอยากดึงผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมลงทุน จะเลือก1-2 ราย
เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าต้องขออนุญาตด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปผู้ร่วมลงทุนได้ในเร็วๆนี้ และในปีหน้าก็จะเริ่มลงทุนเฟส3 ในพื้นที่ที่เหลือ เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เริ่มเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปีหน้า ที่จะเป็นไปตามแผนที่จะใช้เวลาในการพัฒนาโครงการนี้ 3 ปี
ในส่วนของธุรกิจโรงแรมในปีนี้ซี.พี.แลนด์ ปัจจุบันมีโรงแรมเปิดให้บริการ 12 แห่ง ปีนี้เตรียมจะสร้างโรงแรมใหม่ 5 แห่งใน 5 พื้นที่ ภายใต้การลงทุนราว 500 ล้านบาท(ไม่รวมที่ดิน) ที่จะเริ่มลงทุนในที่ดิน ซึ่งซี.พี.แลนด์ มีอยู่แล้วเป็นหลัก
ได้แก่ ขอนแก่น ใกล้กับศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (KICE), มุกดาหาร, หนองคาย, นครพนม ส่วนแห่งที่5 กำลังพิจารณาว่าจะเป็นที่สุราษฏร์ธานี หรือ หาดใหญ่ หรือเชียงคาน จ.เลย ซึ่งเป็นโลเคชั่นที่เรายังไม่มีที่ดิน จึงต้องดูความเป็นไปได้ในเรื่องของราคาที่ดินเป็นหลัก
“การลงทุนโรงแรมใหม่ เราจะโฟกัสไปที่โรงแรมขนาดกลาง ภายใต้แบรนด์ “ฟอร์จูน” และบัดเจด โฮเทลภายใต้แบรนด์ “ฟอร์จูน ดี” ก่อน เพราะคืนทุนได้เร็วกว่าการจะมารออีก 5-10 ปีเพื่อคุ้มทุน ก็จะนานเกินไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ได้มองการลงทุนโรงแรมขนาดใหญ่
เพราะถ้าเราเห็นพื้นที่ไหนเหมาะสม หรือใครอยากขาย ถ้าคุ้มค่าในการลงทุนเราก็สามารถเข้าไปซื้อได้ โดยราคาค่าที่ดินต้องอยู่ที่ไม่เกิน 20% ของการลงทุนที่เกิดขึ้น ซึ่งเราไม่มีปัญหาเรื่องของการขอวงเงินสินเชื่ออยู่แล้ว ถ้าเห็นโอกาสในการลงทุน
ที่ผ่านมาเราก็ได้เข้าไปประมูลโรงแรมหลายโครงการทั้งที่หาดใหญ่ พัทยา ภูเก็ต แต่ปัญหาที่พบคือโรงแรมเหล่านี้ถูกทิ้งมานาน ถ้าไปซื้อต้องใช้เงินลงทุนอีกมาก ทำให้ไม่คุ้มกับการนำกลับมาเปิดให้บริการ”
ภาพรวมในการดำเนินธุรกิจโรงแรม คงทำได้แค่ประคองตัว เพราะโควิดกระทบทั้งโลก ไม่ใช่แค่ในไทย และธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับหลายซัพพลายเชน ทำให้ผลกระทบกว้างขวางกว่าตอนเกิดต้มยำกุ้งมาก นอกจากการรอนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะนี้มีเพียงการเที่ยวในประเทศเท่านั้นที่เป็นตลาดเดียวที่ทำได้ตอนนี้
ทำให้โรงแรมในเครือซี.พี.แลนด์ ต้องลดค่าห้องพักลงมากกว่า50% รวมถึงการหันมาขายอาหารสตรีทฟู้ด การขยายฟอร์จูน ปาท่องโก๋ เพื่อเตรียมขายแฟรนไชส์ ต่อยอดธุรกิจอาหาร เพราะไม่สามารถพึ่งพารายได้จากห้องพักได้เหมือนในอดีต
อย่างที่โรงแรมแกรนด์เมอร์เคียว ฟอร์จูน ก่อนโควิด มียอดเข้าพักกว่า 300 ห้อง ตอนนี้เหลือ15ห้อง และการลดจำนวนพนักงานจากพันกว่าคนตอนนี้เหลือราว700 กว่าคน ลดลงไปมากกว่า30% เป็นต้น นายสุนทร กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,653 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทุกวิกฤตมีโอกาส“ซีพี”จดลิขสิทธิ“ฟอร์จูน ปาท่องโก๋”จ่อขายแฟรนไชส์
อั้นไม่ไหว "ซีพี"ดัน 6 โรงแรมหรูขายสตรีทฟู้ด-ปาท่องโก๋สู้โควิด
แกรนด์ เมอร์เคียว สู้โควิดแปลงห้องพักเป็นห้องประชุม