ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) เปิดเผยถึงกรณีน้ำแม่น้ำโขงในปัจจุบันที่ลดลงอย่างรวดเร็วจนอยู่ในระดับที่น่าเป็นกังวล ว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ชี้ว่าการลดลงของระดับน้ำดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีน สืบเนื่องจากเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางรัฐบาลของจีนได้แจ้งเตือนว่าจะมีการลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ จนถึงวันที่ 24 ม.ค. 64 ก่อนระดับน้ำจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
แต่ภายหลังจากที่ สทนช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด พบว่า หลังจากวันที่ 25 ม.ค. 64 เป็นต้นมา อัตราการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงยังไม่กลับคืนสู่อัตราเดิม โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาในช่วงวันที่ 9-15 ก.พ. 64 ปริมาณน้ำที่สถานีจิ่งหง วัดได้ที่ 1,010 - 1,064 ลบ.ม./วิ ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำที่สถานีเชียงแสน 1,028-1,058 ลบ.ม./วิ (ระดับน้ำ 1.88 -1.92 ม.) ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสถานีเชียงแสนที่ 1,540 ลบ.ม./วิ (ระดับน้ำ 2.26-2.82 ม.) หรือต่ำกว่าประมาณ 500 ลบ.ม./วิ (ระดับน้ำ 0.38 ม.)
ทั้งนี้ แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ชี้แจงว่า ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนจิ่งหง ณ ปัจจุบัน ที่ 1,000 ลบ.ม./วิ มีค่าเป็น 2 เท่า ของการไหลตามธรรมชาติ (Natural flow) แต่อัตราการไหลที่สถานีจิ่งหง ควรเพิ่มเป็นประมาณ 1,600 - 1,700 ลบ.ม./วิ จึงจะสามารถทำให้ปริมาณน้ำและระดับน้ำที่สถานเชียงแสน กลับเข้าสู่สภาวะน้ำเฉลี่ย ในช่วงเดือน มี.ค. เป็นต้นไปได้
จากกรณีดังกล่าว สทนช.หารือกระทรวงการต่างประเทศเพื่อประสานแจ้งไปยังกระทรวงน้ำจีนทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ตามกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC) สาขาทรัพยากรน้ำ เพื่อขอความร่วมมือในการกลับมาปล่อยน้ำในระดับปกติ และแบ่งปันแผนรายไตรมาสที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำไปยังประเทศสมาชิก MLC รวมถึงประสานกระทรวงการต่างประเทศของจีนรับทราบถึงปัญหาสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น
พร้อมเร่งรัดให้ฝ่ายจีนพิจารณาดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ตามที่ สทนช. เสนอในฐานะฝ่ายสนับสนุนและวิเคราะห์สถานการณ์ จำนวน 3 ประเด็น ไปเจรจากับฝ่ายจีน ประกอบด้วย 1) การแจ้งเตือนข้อมูล ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการระบายน้ำที่ 400 ลบ.ม./วิ เพื่อเป็นการแจ้งหน่วยงานในพื้นที่และประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อวางแผนต่อการเปลี่ยนแปลงการขึ้นลงระดับน้ำ 2) การขอให้เขื่อนจิ่งหง มีอัตราการระบายน้ำจากเขื่อนในเดือน ก.พ. 1,600 ลบ.ม./วิ และ มี.ค. 1,900 ลบ.ม./วิ และ 3) การปล่อยน้ำจากตัวเขื่อนจิ่งหงในแต่ละวัน ไม่ควรเปลี่ยนอัตราการระบายมากกว่า 400 ลบ.ม./วิ ภายใน 1 วัน
เนื่องจากความเร็วดังกล่าวจะมีผลต่อระดับน้ำผลต่อท้ายน้ำ โดยเฉพาะ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ทำให้ระดับน้ำขึ้นลงภายใน 1 วัน ซึ่งเป็นความผันผวนของระดับน้ำที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตริมฝั่ง เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง การพังของตลิ่ง หรือกิจกรรมทางด้านประเพณี วัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ ค่าอัตราการระบายดังกล่าว ยังไม่รวมกับปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาที่จะผนวกทำให้ยิ่งเกิดความผันผวนของระดับน้ำมากขึ้น
“แม้สาเหตุของการลดระดับของแม่น้ำโขงอาจประกอบไปด้วยหลายปัจจัย แต่การปล่อยน้ำจากเขื่อนถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สำคัญ โดยปัจจุบันระดับน้ำลดต่ำมากจนไม่มีการไหลเวียน เกิดการตกตะกอน กลายเป็นปรากฏการณ์ที่น้ำในแม่น้ำเปลี่ยนเป็นสีฟ้า ซึ่งถือเป็นความผิดปกติที่สร้างผลเสียต่อระบบนิเวศ และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตรวมทั้งการประกอบอาชีพของประชาชนริมฝั่งโขง
สทนช. จึงได้เสนอประเด็นที่สำคัญต่อกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเร่งประสานไปยังประเทศจีนพิจารณาแก้ไขปัญหาในทันที โดยขอให้มีการปล่อยน้ำเพิ่มขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงของอัตราการระบายต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผันผวนของน้ำ และต้องมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในระหว่างรอการตอบกลับจากทางจีน รวมทั้งได้แจ้งขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาผ่านกรอบความร่วมมือ MLC ด้วย โดย สทนช. จะติดตามความคืบหน้าใน
เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้ ยังได้ประสานไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRCS เพื่อขอรับการสนับสนุนการติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง พร้อมวิเคราะห์เพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกได้รับทราบอย่างใกล้ชิด โดยในทุกการดำเนินการเป็นไปเพื่อปกป้องประชาชนริมแม่น้ำโขงให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด”ดร.สมเกียรติ กล่าว