นายเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก (World Gold Council) เผยแนวโน้มราคาทองคำโลกไตรมาส 4/57 ว่า แนวโน้มราคาทองคำในปัจจุบันนั้นได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
ซึ่งสองสิ่งนี้ได้ส่งเสริมบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน ในมุมมองของเราปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดแนวโน้มราคาในไตรมาสที่ 4/67 นั้นประกอบด้วย
โดยประเทศไทยนั้น ราคาทองคำภายในประเทศจะได้รับอิทธิพลจากการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำสากลที่กำหนดโดยสมาคมตลาดทองคำแห่งลอนดอน (LBMA) ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาในประเทศจะมากน้อยเพียงใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของค่าเงินบาท ที่มีความสัมพันธ์บางส่วนกับอัตราดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทย
"มองว่าการซื้อทองคำของธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากเทียบกันแล้วอาจจะไม่แข็งแกร่งเท่ากับปีที่ผ่านๆ มา การซื้อทองคำในส่วนของเครื่องประดับอาจลดลงเนื่องจากราคาที่สูงขึ้น แต่การลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำนั้นจะยังคงแข็งแกร่งต่อไป"
ในฝั่งของอุปทานคาดการณ์ว่าอุปทานจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการผลิตของผู้ผลิตทองคำรายต่างๆ ที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วมองว่าความสนใจจากฝั่งนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นนั้น จะช่วยชดเชยความต้องการในภาคผู้บริโภคและการซื้อทองคำของธนาคารกลางที่ชะลอตัวลง
จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งไม่น่าจะจบได้ง่าย เศรษฐกิจจีนก็น่าจะยังไม่ฟื้น สหรัฐฯ ก็มีความไม่แน่นอนทางการเมือง จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อตลาดทองคำนั้น มองว่าราคาทองคำมักจะตอบสนองต่อปัจจัยหลักต่างๆ ทั้งทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ย และการรับรู้ถึงความเสี่ยงของตลาด
โดยความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นกับนโยบายเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศหลังช่วงเลือกตั้งของสหรัฐ ฯ นั้นได้เพิ่มสำคัญมากขึ้นต่อการปรับตัวของสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งรวมถึงทองคำ สภาวะการณ์เหล่านี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่นักลงทุนจะต้องจำกัดและกระจายความเสี่ยงในพอร์ตพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งทองคำสามารถตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังพบว่าความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์นั้นมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนต่อทองคำ โดยดัชนีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk Index) ที่เพิ่มขึ้น 100 จุด (หรือ 1%) จะส่งผลผลเชิงบวกต่อผลตอบแทนของทองคำประมาณ 2.5% (เมื่อพิจารณาว่าปัจจัยอื่นๆ คงที่)
และด้วยความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงอยู่ในระดับสูง และมีโอกาสน้อยมากที่จะมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจนในอนาคตอันใกล้ ประกอบกับการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไป จึงเชื่อว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะสนับสนุนความต้องการทองคำจากนักลงทุนให้อยู่ในระดับสูงต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2567 ทองคำก็ได้มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นสถิติแล้วมากกว่า 30 ครั้ง ซึ่งสภาวะนี้สะสร้าวความท้าทายให้กับ ความต้องการในภาคผู้บริโภค แต่แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะอาจจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางแนวโน้มของทองคำได้
ส่วนแนวทางการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และไทย ซึ่งคาดว่าจะดำเนินต่อไปนั้น มองว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกน่าจะทำให้ความสนใจในการลงทุนทองคำเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากต้นทุนการเสียโอกาสในการถือทองคำได้ลดลง แนวโน้มนี้เราเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นทั้งในสหรัฐ ฯ และในประเทศไทย
แม้ว่าการซื้อทองคำของธนาคารกลางจะชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3/67 ที่ผ่านมา แต่ยอดการซื้อสะสมรวมตลอดทั้งปีก็ยังคงถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีปริมาณการซื้อสุทธิในไตรมาสที่ 3 ที่ 186 ตัน ทำให้ยอดการซื้อสะสมทั้งปีรวมอยู่ที่ 694 ตัน ซึ่งแม่ว่าจะต่ำกว่าตัวเลขในปี 66 แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 65
ราคาทองคำที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจยับยั้งการซื้อทองคำเพิ่มเติมของธนาคารกลางบางส่วน และกระตุ้นให้ธนาคารบางแห่งขายทองคำที่ซื้อจากผู้ผลิตในประเทศออกมาสู่ตลาด นอกจากนี้แล้วข้อมูลตลาดยังได้ชี้ให้เห็นว่าการซื้อทองคำที่ไม่ได้รายงานแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการก็ได้ชะลอตัวลงในไตรมาสนี้ แม้ว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงก็ตาม
ในขณะนี้ ทางฝ่ายคาดการณ์ว่าธนาคารกลางน่าจะยังคงมียอดซื้อสุทธิเป็นบวกในปี 67 แต่ยอดรวมตลอดทั้งปีอาจอยู่ในระดับต่ำกว่าสองปีที่ผ่านมา
ขณะที่ตลาดทองคำเครื่องประดับในประเทศไทย มองว่ายังคงมีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน ส่วนในด้านความต้องการทองคำสำหรับการลงทุน (ประกอบด้วยความต้องการในกองทุน ETF ทองคำ รวมกับทองคำแท่งและเหรียญทองคำ) ของประเทศไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ความกังวลทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศ
รวมถึงการคาดการณ์ว่าราคาทองคำจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งกระตุ้นความต้องการทองคำของนักลงทุนในไทย รวมทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียนในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา โดยทั้งประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต่างก็มีการเติบโตในระดับตัวเลขสองหลักเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่เวียดนามกลับมีความต้องการลดลง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาที่ส่งผลให้การซื้อลดลง
สำหรับประเทศจีนนั้น ในช่วงไตรมาส 3/67 ที่ผ่านมา จีนมีความต้องการทองคำเครื่องประดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 53 ซึ่งมีระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีถึง 36% โดยราคาทองคำในประเทศที่สูงเป็นปัจจัยที่ทำให้ความต้องการลดลง ที่คล้ายกับในไตรมาสที่ 2 ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ต่ำ และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ส่วนในด้านการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำของจีน ทางฝ่ายพบว่าได้เริ่มชะลอตัวในไตรมาสที่ 3 หลังจากช่วงครึ่งปีแรกที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ แต่ด้วยฐานตัวเลขในปีที่ผ่านมานั้นสูงมาก การคำนวนเปรียบเทียบเป็นรายปีอาจทำให้ภาพของการชะลอตัวดูรุนแรงเกินความเป็นจริง เพราะหากพิจารณาในระยะยาวทางฝ่ายยังคงพบว่าระดับความต้องการยังคงแข็งแร่งมาก โดยยอดสะสมตั้งแต่ต้นปี (Year to Date) นั้นยังคงอยู่ในระดับแข่งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 56
อย่างไรก็ตาม จากการประกาศหยุดซื้อทองคำชั่วคราวของธนาคารประชาชนจีน (PBoC) เมื่อไม่นานมานี้ มองว่าก็อาจทำให้ความต้องการลงทุนในทองคำโดยรวมลดลงในบางส่วน แต่ทางฝ่ายคาดว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 4/67 เนื่องจากอาจมีการลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มเติม และมาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น น่าจะส่งผลดีต่อการซื้อทองคำแท่งและเหรียญทองคำในไตรมาสต่อๆ ไป ในปี 68