จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของโลกทำให้เกิดปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้อากาศมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำลง เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงที่อากาศมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ วันนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) วิจัยสารทางเลือกฝนหลวง
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เผยถึง วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารฝนหลวงทางเลือกทั้ง 5 สูตรที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการต้นแบบการพัฒนาสารฝนหลวงทางเลือกเพิ่มเติมในสภาวะความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้สารฝนหลวงทางเลือกสำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนของการก่อกวนในสภาวะความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสารทางเลือกฝนหลวงนั้นมีคุณสมบัติสามารถดูดความชื้นที่ RH ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อละลายน้ำอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส และมีค่าความตึงผิวของสารละลายใกล้เคียงหรือสูงกว่าสารฝนหลวงสูตรปัจจุบัน
วันนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ได้ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก ขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อทดลองสารทางเลือกฝนหลวงในขั้นตอนที่ 1 (ก่อกวนเมฆ) เป็นขั้นตอนการทำให้เมฆมีปริมาณมากขึ้น โดยใช้สารฝนหลวงทางเลือกสูตร AR 38 จำนวน 700 กิโลกรัม ในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่มอก, อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เป็นพื้นที่เป้าหมายในการทดลองปฏิบัติการ เพื่อบรรเทาปัญหาไฟป่า หมอกควัน และเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน และหลังจากการทดลองครั้งนี้พบว่า ปริมาณเมฆในพื้นที่ที่ทำการทดลองเพิ่มมากขึ้น
"นับว่าผลการทดลองในครั้งนี้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก มีแผนการปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 2 (เลี้ยงให้อ้วน) และขั้นตอนที่ 3 (โจมตี) ในลำดับต่อไป"
อนึ่ง การทดลองครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่เหล่านักวิจัยได้มีโอกาสเก็บข้อมูล เก็บสถิติต่างๆ เพื่อประกอบการวิจัย พัฒนาสารทางเลือกฝนหลวงในโอกาสต่อไป และย้ำว่าสารฝนหลวงทางเลือกนี้มีโอกาสสำเร็จในเร็วๆนี้มาก เพื่อเป็นการสนองพระราชปณิธานของพระบิดาแห่งฝนหลวง ที่ต้องการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชน
อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงฯ ต่างๆ ยังคงติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่ ทั้งนี้ เกษตรกรและพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง และติดตามข้อมูลข่าวสารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจ Facebook, Line official account, Instagram, Twitter และเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100