กระทรวงแรงงาน เผยข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ธันวาคม 2563 มี ผู้ประกันตนตกงาน 7.9 แสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปถึง 2.5 ล้านคน จากผู้ที่ถูกสั่งพักงานชั่วคราวอาจถูกให้ออกในอนาคตได้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิด มิติใหม่ในภาคเกษตรกรรม อย่างเห็นได้ชัด
แหล่งข่าวจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จาก การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบแรกและในระลอกใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างหนักหน่วง โรงงานอุตสาหกรรม ร้านอาหาร จำนวนมากไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ หลายโรงต้องลดกำลังการผลิตนั้น ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อลดค่าใช้จ่าย อีกด้านหนึ่งก็มีเงินติดตัวบ้าง จากการที่บริษัทเลิกจ้างกะทันหัน จึงทำให้หลายคนหันมาประกอบอาชีพเกษตร โดยอาจเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงมากขึ้นจากที่รัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกร รวมถึงมีโครงการต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือและยังได้รับเงินเยียวยาจากผลกระทบโควิด หรือผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
“ที่เห็นได้ชัดเจนคือจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกรมปศุสัตว์ ข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 กรมปศุสัตว์ มีทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั้งสิ้น 3,548,540 ราย โดยมีเกษตรกรรายใหม่ด้านปศุสัตว์เพิ่มขึ้น 164,801 ราย ส่วนกรมประมง ก็ไม่น้อยหน้า มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนกว่า 6 แสนราย เช่นเดียวกันซึ่งใกล้เคียงกับของเดิม”
ส่วน “ข้าว” การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลล่าสุด ขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 4.6 ล้านครัวเรือน (กราฟิกประกอบ) คิดเป็น 106.5% ของเป้าหมาย 4.4 ล้านครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนครัวเรือน (ก่อนโครงการประกันรายได้มีเกษตรกรขึ้นทะเบียน 3.5 ล้านครัวเรือน) ประกอบกับภาวะฝนแล้งทำให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวล่าช้า โดยหันมาปลูกข้าวเปลือกเหนียว ที่ปีที่ผ่านมาขายได้ราคาดี ราคาสูงกว่าราคาประกัน
ขณะที่ “ข้าวเปลือกเจ้า” ในปีที่ผ่านมาได้รับการชดเชยส่วนต่างรายได้มาก และมีราคาข้าวเปลือกเจ้าสูงสุดในรอบ 10 ปี จึงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากข้าวหอมปทุมธานีมาปลูกข้าวเปลือกเจ้าเพิ่มมากขึ้น
ด้านเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ในพื้นที่เกิดโรคใบด่างระบาดก็ได้หันมาปลูกข้าวโพดเพิ่มกันเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นการตัดวงจรของโรคได้ดี แต่ก็มีเกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่ประสบปัญหาจากการขาดทุนในปีที่ผ่านมาได้หันมาปลูกมันสำปะหลังทดแทน ทำให้ตัวเลขทะเบียนเกษตรกรเพิ่มขึ้นกว่า 7.6 แสนครัวเรือน ขณะที่โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมีวงเงิน 9,788 ล้านบาท เป้าหมาย 5.24 แสนครัวเรือน
ส่วน “ยางพารา” เคาะชดเชยส่วนต่างราคามาแล้ว 3 งวด กรอบวงเงินกว่า 6,467 ล้านบาท จากกรอบวงเงินที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 10,042 ล้านบาท ล่าสุดงวดที่ 4 จะเคาะในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ จะใช้วงเงินเท่าไร
สรุป 3 พืช คือมันสำปะหลัง ข้าวโพด และยางพารา ต้องลุ้นราคาไม่ตกตํ่า ได้ไม่ซํ้ารอย “ข้าว” ที่ต้องขอใช้งบเพิ่มเติม รวมทั้งสิ้นกว่า 5.06 หมื่นล้านบาท (จากที่ครม.อนุมัติ 1 ธ.ค. 63 งบ 4.68 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,839 ล้านบาท) ไม่รวมกับโครงการคู่ขนาน
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,655 หน้า 9 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ 2564