นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยถึง ผลสำรวจทัศนคติ พฤติกรรมและการใช้จ่าย ช่วงวันมาฆบูชา ของกลุ่มตัวอย่าง 1,215 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2564 ว่าจากผลสำรวจในปีนี้กลุ่มตัวอย่างจะมีค่าใช้จ่ายโดยรวมต่อคน 1,311.44 บาท รวมเงินสะพัด 2,357.03 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีเงินสะพัด 2,601.01 ล้านบาท คิดเป็น 9.38% ซึ่งเป็นการลดลงในแทบทุกหมวดค่าใช้จ่ายถือว่ามีเงินสะพัดต่ำสุดในรอบ 6 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2558
สอดคล้องกับผลสำรวจที่ว่า กลุ่มตัวอย่างจะไปและไม่ไปทำบุญใกล้เคียงกัน คือระบุว่าจะยังไปทำบุญไหว้พระในวันมาฆบูชา 40% ไม่ไป 37.3% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และไม่แน่ใจว่าจะไปหรือไม่ 22.7% โดยสาเหตุที่ไม่ไป 44.4% ผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 รายได้ลดลง 18.7% ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี 17.8% ความคึกคักเมื่อเทียบกับปี 2563 กลุ่มตัวอย่าง 48.7% ระบุว่า คึกคักน้อยกว่าเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจแย่ลง 26.1% ขาดสภาพคล่องทางการเงิน 24.5% การแพร่ระบาดโควิด-19 15.0% ราคาสินค้าแพงขึ้น 13.3% มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 11.8% มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น 5.6%
ส่วนกลุ่มตัวอย่าง 23.0% ระบุว่าคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา 53.2% ระบุว่าเป็นเพราะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น 25.4% เศรษฐกิจแย่คนเลยทำบุญ 15.7% มีสถานที่ที่จัดงานมากขึ้น 5.4%และตอบว่าสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง 28.3% โดยมีกิจกรรมที่นิยมทำในวันมาฆบูชา 52.5% ระบุว่าซื้อสังฆภัณฑ์ ทำบุญ 51.5% ไปเวียนเทียน 46.3% ตักบาตร 33.0% ทำทาน 22.5% ปล่อยนก ปล่อยปลา 16.7% กินข้าวนอกบ้าน 16.5% พักผ่อนอยู่บ้าน 14.5% เป็นต้น
ส่วนการสำรวจทัศนคติต่อมาตรการ/นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 92.7% คนละครึ่ง 88.2% เราเที่ยวด้วยกัน 61.3% เราชนะ 75.6% ม.33 เรารักกัน 100.00% เห็นว่าอยากให้มีโครงการเหล่านี้ต่อไป โดยส่วนใหญ่ให้คะแนนความพึงพอใจกับมาตรการเหล่านี้ เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างให้คะแนนในระดับที่สูงเฉลี่ยเกิน 6 คะแนนจากคะแนนเต็มสิบคะแนน และมาตรการที่เป็นอันดับหนึ่งในใจประชาชนคือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รองลงมาคือมาตรการคนละครึ่ง อันดับสามคือเราชนะ อันดับสี่เที่ยวด้วยกัน และสุดท้ายมาตรการเรารักกัน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเห็นว่ายังมีปัญหาในด้านต่าง ๆเช่น เครื่องรูดบัตรสวัสดิการเสีย ระบบไม่เสถียรมีปัญหาบ่อยเกินไป ทำให้ต้องรอนาน 40.5%ร้านค้าอยู่ไกลเกินไป ร้านที่เข้าร่วมโครงการมีน้อย 26.4%ราคาสินค้าแพงขึ้น 10.8% วงเงินน้อยไป 6.1% ส่วนมาตรการคนละครึ่งระบุว่า แอพล่ม ระบบล่าช้า รอนานเกินไป 45.4% จำนวนเงินน้อยเกินไป 16.8%
ส่วนมาตรการเราเที่ยวด้วยกันกลุ่มตัวอย่างระบุว่ามีปัญหาคือ ต้องมีการจองล่วงหน้าก่อนเดินทาง ขั้นตอนที่ยุ่งยากในการใช้งาน 48.3% เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เลยไม่ได้เดินทาง 25.7% การเก็บเงินเพิ่มของที่พัก 10.4% ส่วนมาตการเราชนะ กลุ่มตัวอย่างระบุว่าอยากได้เงินสดมากกว่า ใช้จ่ายอย่างอื่นไม่ได้ 44.2% เงื่อนไขและกำหนดการเยอะเกินไป 29.5% ร้านค้าอยู่ไกล และตั้งราคาสินค้าแพง และสินค้าน้อย 13.8% และมาตรการ เรารักกัน ระบุว่า เงื่อนไขการแบ่งแยกกลุ่ม และการกำหนดวันในการเข้าถึงสิทธิ์เยอะเกินไป 32.2% งานประจำก็มีค่าใช้จ่ายและได้รับผลกระทบเหมือนกัน 23.7 % ระบบการลงทะเบียนมีปัญหาบ่อย 16.9% เป็นต้น
รวมทั้งระบุว่าในไตรมาสหนึ่งเศรษฐกิจจะยังติดลบที่ 1-2% และเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นในไตรมาสที่สองและขยายตัวได้ประมาณ 4-4.5% จากเม็ดเงินที่ลงไป 2.5 แสนล้านบาทโดยประมาณ และทุกอย่างจะจบในเดือนพฤษภาคมโดยเชื่อว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นจะมีการใช้เงินเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสองและสาม ทำให้โดยเฉลี่ยครึ่งแรกเศรษฐกิจไทยจะโต 1.5% ส่วนครึ่งปีหลังจะขยายตัว ประมาณ 4.5% และทั้งปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 2.8-3% เพราะจากสถานการณ์ของการฉีดวัคซีนการระบาดลดน้อยลงทั่วโลก การล็อกดาวน์น้อยลง มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทย ในลักษณะทราเวล บับเบิ้ล ซึ่งก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ในปีนี้ 3-3.5% รวมทั้งปัญหาตู้คอนเทนเนอร์คลี่คลายทำให้การส่งออกคล่องตัวได้มากขึ้นและฟื้นในไตรมาสที่สอง ค่าเงินบาทน่าจะแกว่งตัวที่ 28-30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รับเงินเยียวยา"เราชนะ" งวด 3 วันนี้ สูงสุด 700 บาท
“นครบาล”ลุยจับ 21 ราย โกง“คนละครึ่ง”คุกสูงสุด 3 ปี
นายกฯ เอาจริง ลงโทษคนทุจริต "คนละครึ่ง" ย้ำ ทุกโครงการรัฐต้องตรวจสอบได้
"กรุงไทย" แจ้งย้ายเบอร์ Call Center "เราชนะ-เรารักกัน-เราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง"
กรุงไทย เตือนอย่าหลงเชื่อ SMS "ลงทะเบียนเราชนะ"รับเงินเพิ่ม 5,000 บาท