ในที่สุดบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)หรือ THAI โดยนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี) ได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อนางอรัญญา ทองนํ้าตะโก อธิบดีกรมบังคับคดีในช่วงเช้าวันที่ 2 มีนาคม ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายตามที่กฎหมายกำหนด หลังจากที่ขอขยายเวลาทำแผนมาถึง 2 ครั้ง (2 ม.ค และ 2 ก.พ.64) โดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ (จพท.)ได้นัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการฯในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในแผนฟื้นฟูกิจการของ การบินไทย ได้เสนอเปลี่ยนแปลงผู้บริหารแผนใหม่ โดยเพิ่มนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อดีตรองประธานกรรมการคนที่ 2 และรักษาการดีดี และนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ อดีตกรรมการ การบินไทย พร้อมถอนรายชื่อนายบุญทักษ์ หวังเจริญและนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตกรรมการและผู้ทำแผนร่วมกับอีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ จำกัด ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ การบินไทย ฟื้นฟูกิจการเมื่อ 14 กันยายน 2563 โดยมีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้รวม 1.85 แสนล้านบาท จากทุนทรัพย์ 3.52 แสนล้านบาท
รายงานข่าวระบุว่า ในแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย หลังจากหารือกับเจ้าหนี้แล้วได้ตัดประเด็นการลดหนี้คงค้างออกไป (แฮร์คัต) และจะไม่มีการลดทุนด้วย แต่จะเป็นการใส่เงินทุนก้อนใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งการบินไทยต้องการเงินทุนก้อนใหม่ราว 50,000 ล้านบาทนั้น โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะใส่เงินเข้ามาราว 2.5-2.7 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาทเจ้าหนี้หุ้นกู้จะต้องพิจารณาใส่เงินเข้ามา
คลังยันลดหนี้ไม่ได้
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เปิดเผยว่า กฎหมายไม่ได้เอื้อให้ภาครัฐแฮร์คัตหนี้ได้ ดังนั้นในหลักการเบื้องต้น กระทรวงการคลังจึงไม่สามารถแฮร์คัตหนี้ให้กับการบินไทยได้ แต่จะขยายเวลาหนี้ รวมถึงพิจารณาแนวทางการเพิ่มสภาพคล่องให้ในลักษณะการเพิ่มทุนหรือการให้กู้ด้วยการคํ้าประกัน เพราะ การบินไทยต้องมีเงินเพื่อเข้าไปเสริมสภาพคล่องรวมทั้งมีค่าใช้จ่ายชดเชยพนักงานที่จะสมัครใจลาออก
“เราจะพิจาณาข้อจำกัดต่างๆ ทางกฎหมายก่อน เนื่องจากขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดของแผนฟื้นฟูของการบินไทย แต่ตัวเลขการเพิ่มทุนที่การบินไทยคาดอยู่ที่ 3.5-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคลังน่าจะไม่ได้เพิ่มทุนเข้าไปให้ทั้งหมด ต้องมาดูข้อจำกัดข้อดีข้อเสียก่อน”ผอ.สคร.กล่าว
แบงก์เจ้าหนี้รอดูแผน
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ระบุว่า ต้องรอสำเนาแผนฟื้นฟูที่จพท.ส่งมาให้เจ้าหนี้พิจารณาก่อน โดยจะดูว่า มีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตรงหรือไม่ หรือแนวทางแผนฟื้นฟูเป็นอย่างไร ถ้าแผนที่เสนอเข้ามามีความเป็นไปได้และชัดเจน เจ้าหนี้พร้อมจะสนับสนุน แต่เจ้าหนี้มองว่า ถ้าจะฟื้นฟูกิจการการบินไทยต้องมีรายละเอียดตามที่เจ้าหนี้เสนอ ซึ่งยังไม่สามารถระบุรายละเอียดได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
“การบินไทย มีโอกาสจะฟื้นฟูได้ เพราะเป็นสายการบินแห่งชาติต้องคงอยู่ นอกจากคลังจะหาหน่วยงานรัฐมาถือหุ้นแทนในสัดส่วนที่ไม่มากเกินไปแล้ว หนี้ทั้งหมดไม่ว่าหุ้นกู้หรือหนี้ค่าเช่าเจ้าหนี้ต่างประเทศถ้าไม่แฮร์คัตก็ไม่ไหวแต่ใช้วิธีแปลงหนี้เป็นทุนแทน และเพื่อให้ธุรกิจการบินเดินหน้าได้จะต้องคงสิทธิเกี่ยวกับเส้นทางการบินและปรับลดค่าเช่าเครื่องและพนักงานลงอีก”
ชสอ.ยื่น 4 เงื่อนไข
ด้านนายไพบูลย์ แก้วเพทาย รองประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) ซึ่งมีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ 87 แห่ง เป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้การบินไทย 4.3 หมื่นล้านบาท จากเจ้าหนี้หุ้นกู้ทั้งหมด 7.35 หมื่นล้านบาทกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทยได้ชี้แจงแผนปรับโครงสร้างหนี้หุ้นกู้กับตัวแทนสมาชิกล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้ง 87 แห่ง ยอมรับแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้หุ้นกู้ตามที่ผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอภายใต้ 3 ข้อ บังคับ 1 ข้อสมัครใจ ประกอบด้วย 1.การบินไทย จะไม่มีการแฮร์คัตเงินต้นของหุ้นกู้ที่สหกรณ์ฯถืออยู่ ทำให้สหกรณ์ฯ ได้รับการชำระหนี้เงินต้นหุ้นกู้คืนทั้ง 100%
2.การบินไทย ขอขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปจากเดิม ในแต่ละรุ่นอีก 6 ปี เมื่อรวมแล้วเพดานไม่เกิน 14 ปี 3.การบินไทย จะชำระดอกเบี้ยให้สหกรณ์ฯเจ้าหนี้เป็นรายปี เป็นอัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี โดยของเดิมไม่นำมาคิดคำนวณ เริ่มจ่ายในปีที่ 4 (ปี2567) เป็นต้นไป ส่วนดอกเบี้ยในปีที่ 1-3 นั้น จะคงค้างจ่ายไว้ จะจ่ายงวดเดียวในการจ่ายหนี้งวดสุดท้าย ก็คือเพดานไม่เกิน 14 ปี เรียกว่าสหกรณ์ไหนครบดีลก่อนก็จ่ายก่อน และ 4. การแปลงหนี้เป็นทุน เป็นเงื่อนไขสมัครใจหรือเป็นทางเลือก ถ้าสหกรณ์ใด จะทำก็ได้ไม่เกิน 50% ไม่บังคับ
“4 เงื่อนไขนี้ ก็พอใจในระดับหนึ่ง ส่วนแผนฟื้นฟูจะมี 3 แผนคือ แผนจัดการเงิน แผนฟื้นฟูธุรกิจ และแผนการปรับโครงสร้างองค์กร หรือพวกอัตรากำลัง เรื่องนี้คงไม่ได้ไปยุ่ง ส่วนแผนของธุรกิจจะต้องไปพิจารณาอีกครั้ง เพราะวันนี้ยังไม่เห็นแผนเลยว่า เป็นอย่างไร” นายไพบูลย์กล่าว
ส่วนของเจ้าหนี้การค้านั้นนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ทอท.กล่าวว่า การบินไทยค้างชำระหนี้ทอท.ราว 5 พันกว่าล้านบาท ปัจจุบันยังไม่ได้เจรจากับทอท. ซึ่งทอท.ต้องรอดูแผนฟื้นฟูก่อนว่า จะออกมาในรูปแบบใด เพราะศาลล้มละลายกลางจะให้เวลาการบินไทย 60 วัน เพื่อเจ้าหนี้ศึกษาแผนและโหวตแผนดังกล่าว
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,658 วันที่ 4 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ชสอ.แจงสมาชิกยันการบินไทยไม่ลดหนี้หุ้นกู้
"การบินไทย"ออกเกณฑ์คัดเลือก“แอร์-สจ๊วต” ที่ได้ไปต่อต้องอายุไม่เกิน 55 ปี-ไม่อ้วน
นักบิน “การบินไทย”โพสต์เศร้าใจหาย "เริ่มต้นใหม่ ในวัย 50 ปี"