"นกแอร์"ลุ้นยื่นแผนฟื้นฟู15มี.ค.นี้ แจงหนี้หดเหลือ4พันล้าน

08 มี.ค. 2564 | 10:00 น.

"นกแอร์" เร่งสรุปพุธนี้ ยื่นแผนฟื้นฟูนัดแรกทันวันที่15มี.ค.นี้หรือไม่ เจรจาผู้ให้เช่าเครื่องบินมากกว่า50%หนุน หนี้หดเหลือ4พันกว่าล้านบาท พร้อมหาเงินกู้ฉุกเฉินรองรับ

"นกแอร์" เร่งสรุปพุธนี้ ยื่นแผนฟื้นฟูนัดแรกทันวันที่15มีนาคมนี้หรือไม่ ถ้าไม่ทันยืดได้อีก2ครั้ง ทั้งเจรจาเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินมากกว่า50%พร้อมหนุน คาดมูลหนี้เหลือ 4พันกว่าล้านบาท จากเดิม2หมื่นกว่าล้านบาท หลังตัดหนี้ในอนาคตออกแล้ว

ทั้งวาง 3แนวทางเจรจาหาแหล่งเงินกู้ฉุกเฉิน รับมือหากเกิดโควิดระลอกใหม่ รวมถึงการขยายธุรกิจตามแผนฟื้นฟูกิจการช่วง3-5ปีนี้

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริ หารบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า
ในวันที่10มีนาคมนี้ คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของสายการบินนกแอร์ จะมีการหารือเพื่อหาข้อสรุปว่านกแอร์จะยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ได้ทันก่อนวันที่15มีนาคมนี้หรือไม่

อย่างไรก็ตามถ้าไม่ทันก็สามารถยื่นขอขยายระยะเวลายื่นแผนฟื้นฟูออกไปได้อีก2ครั้ง ครั้งละ1เดือน

นกแอร์

ส่วนการเจรจาเจ้าหนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาขอลดค่าเช่าเครื่องบิน จาก10บริษัทในต่างประเทศ  ซึ่งมีการเจรจาไปแล้วมากกว่า50%มีการเจรจา โดยลดค่าเช่าให้นกแอร์30-50%จ่ายเฉพาะชั่วโมงที่ทำการบิน

เจ้าหนี้หลักๆของนกแอร์ คือ เจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบิน เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้บัตรโดยสารมีน้อยมาก เพราะนกแอร์ได้ทยอยจ่ายคืนตั๋วโดยสารทั้งหมด

ส่วนเจ้าหนี้บัตรโดยสารรายใหม่มีจำนวนเพียง 40 คน ซึ่งมีมูลหนี้ไม่ถึง 1 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างทยอยจ่ายคืนหนี้

สำหรับเจ้าหน้าทั้งหมดของนกแอร์ ที่นกแอร์จะยื่นเสนอแผนต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ล่าสุดจะเหลือเจ้าหนี้ไม่ถึง400ราย จากเดิมอยู่ที่500-600ราย มูลหนี้จะเหลืออยู่ที่4พันกว่าล้านบาท จากเดิมที่อยู่ที่ราว2หมื่นกว่าล้านบาท 

เนื่องจากมีการตัดหนี้ในอนาคตออกไป ที่ส่วนใหญ่เป็นค่าเครื่องบินและค่าปรับต่างๆ แต่วงเงินที่ชัดเจนต้องรอการพิจารณาของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์

ส่วนแหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ช่วง 3-5 ปีนี้ เราได้เจรจากับผู้ถือหุ้นคือกลุ่มจุฬางกูรไว้แล้ว รวมถึงการเจรจากับบริษัทในเครือไอร่า ที่ดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว และยังเจรจากับสถาบันการเงินบางแห่งไว้ด้วย โดยอาจจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งวงเงินที่ต้องใช้ก็อยู่ในระดับหลักพันล้านบาท

"วงเงินกู้ฉุกเฉินดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในกรณีถ้าเกิดโควิด-19ระลอกใหม่ แล้วทำให้นกแอร์ต้องขาดสภาพคล่อง รวมถึงใช้ในการขยายธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟู โดยในปีนี้มีแผนจะเช่าเครื่องโบอิ้ง737-800นิวเจนเนอร์เรชั่นมาใช้ในการขยายธุรกิจ

การเปิดจุดบินในต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยมองไว้ที่ญี่ปุ่นและจุดบินอื่นๆที่นกแอร์เคยบินอยู่"

นายวุฒิภูมิยังกล่าวต่อว่า ปัจจุบันด้วยความที่นกแอร์ยังคงทำการบินเส้นทางบินในประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดแต่อย่างใด

สำหรับการหารายได้ในแผนฟื้นกิจการบริษัทจะเน้นเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินผ่านบริษัทในเครือที่ครอบครัวถือหุ้นใหญ่อยู่

อาทิ ซัมมิท, แกรมมี่,ซีเอ็ด ที่ปัจจุบันมีมากถึง350สาขา เรามั่นใจว่านกแอร์จะรอดและเติบโตอย่างเข้มแข็งหลังการฟื้นฟูกิจการดังกล่าว

การปรับโครงสร้างองค์กร ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานอยู่ราว 1.5 พันคน ขณะนี้ยังไม่มีแผนปรับลดพนักงาน เนื่องจากอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้ค่าเช่า และทำสัญญาเช่าเครื่องบิน

จากนั้นถึงจะทำให้ทราบถึงจำนวนเครื่องบินที่จะเหลือให้บริการ และเมื่อทราบจำนวนดังกล่าวแล้ว จึงจะประเมินจำนวนลูกเรือ และนักบินได้

ส่วนการเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์ ได้เปิดให้พนักงานที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งขณะนี้มีพนักงานสมัครขอเออร์ลี่ไม่ถึง 10 ราย

สำหรับกรณีที่การบินไทยจะขายหุ้นนกแอร์ที่ถืออยู่ราว13%ทางเรายังไม่ได้รับการติดต่อใดๆจากการบินไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: