มทร.พระนคร ผนึกTCI ค้นพบกัญชาสายพันธุ์ใหม่ ไหมทอง01

10 มี.ค. 2564 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มี.ค. 2564 | 09:31 น.

มทร.พระนคร ร่วมมือกับบริษัท TCI วิจัยกัญชาไทยสายพันธุ์ใหม่ ไหมทอง 01-ฝอยทองภูผายล-ชาร์ล็อตต์ แองเจิล มั่นใจพลิกโฉมวงการแพทย์อนาคต

ดร.ไพศาล การถาง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า  จากนี้ไปกัญชาจะไม่ไช่สารเสพติด แต่จะเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก โดยเฉพาะบทบาทของการพลิกโฉมวงการแพทย์ 

ล่าสุด มทร. พระนครได้ร่วมกับบริษัท ไทย คานาเทค อินโนเวชั่น จำกัด (TCI) ดำเนินการวิจัยและพัฒนากัญชาสายพันธ์ุไทยให้เป็นสายพันธ์ุที่มีคุณลักษณะพิเศษ ในการให้ปริมาณสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทางยาสูง จนได้กัญชาไทยสายพันธุ์ใหม่ไหมทอง 01ซึ่งมีค่าสาร CBD สูงและ THC มาตรฐาน

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาสายพันธุ์“ฝอยทองภูผายล” และ สายพันธ์ุ“ชาร์ล็อตต์ แองเจิล” ที่ได้ปริมาณ THC และ CBD สูงอีกด้วย คาดว่าจะสามารถวิจัยและพัฒนาจนได้สายพันธุ์กัญชาไทยและได้วิธีการเพาะปลูก ที่เหมาะสมสำหรับการแพทย์ คือสามารถสกัด CBD บริสุทธิ์ที่มี THC น้อยกว่า 0.01% เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ต่อยอดเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนเมษายน 2564 นี้ 

 

มทร.พระนคร ผนึกTCI ค้นพบกัญชาสายพันธุ์ใหม่ ไหมทอง01

และจะขยายผลไปยังเกษตรกรผู้ปลูกกัญชา ชุมชน หรือรัฐวิสาหกิจที่ได้รับใบอนุญาตการปลูกอย่างถูกต้อง ดำเนินการปลูกเพื่อใช้ทางการแพทย์ นอกจากนี้ มทร. ยังยินดีถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งหมดที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ให้กับผู้ที่สนใจนำไปขยายผลต่ออีกด้วย

จากความสำเร็จของการวิจัยนี้ เชื่อว่าหากมีการต่อยอดและนำมาใช้ในวงการแพทย์ หรือใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดต่างๆเพื่อพัฒนาขึ้นเป็นตำรับยาสมุนไพรทั้งในเชิงแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกจะช่วยส่งเสริมให้กัญชามีมูลค่าทางเศรษฐกิจในมุมของอุตสาหกรรมสุขภาพและอุตสาหกรรมการแพทย์ รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจWellnessและ medical tourism ได้มหาศาล

นอกจากนี้ กัญชาไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ ที่ต้องการนำกัญชาสายพันธุ์ไทยที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและมีปริมาณของของสารTHC และ CBD ที่สูง ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสายพันธุ์ดั้งเดิม ในส่วนนี้หากสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานวิจัย สามารถร่วมมือกันพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อพัฒนากัญชาที่แข็งแกร่งและมีลักษณะเฉพาะตัว 

จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้กับยารักษาโรคหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มีสารผสมของกัญชาได้ หรือแม้แต่การส่งออกในรูปแบบวัตถุดิบตั้งต้น เมล็ดพันธุ์หรือสารสกัดTHC และ CBD  ในอนาคต

 

ดร.ไพศาล  กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลผลิตจากกัญชาไม่ว่าจะเป็นต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิเช่น การใช้สารTHC และ CBDในการรักษาโรคที่จำเพาะเจาะจง  กระตุ้นและพลิกฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ภายหลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย และนักท่องเที่ยวทยอยกลับมาเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในลักษณะของWellnessและ medical tourism 

มทร.พระนคร ผนึกTCI ค้นพบกัญชาสายพันธุ์ใหม่ ไหมทอง01

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นตลาดใหญ่ และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีความสนใจในผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชง และอยากทดลองใช้ เพราะปัจจุบันประเทศไทยนับเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่กัญชาและกัญชงถูกกฏหมาย  เชื่อว่าผลิตภัณฑ์และยารักษาโรคจากกัญชาจะได้รับการตอบรับที่ดีอย่างแน่นอน

“ผลิตภัณฑ์จากกัญชา และกัญชงจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดในช่วงกลางปีนี้ ทั้งในมิติแพทย์ทางเลือก แพทย์แผนปัจจุบัน อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง เพราะปัจจุบันหลายบริษัทอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาติจาก อย. ซึ่งอาจช้าไปบ้างเพราะ อย.ต้องจะให้ความสำคัญในทุกกระบวนการตรวจสอบอย่างมาก เพื่อให้ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนสารสกัดจากกัญชาเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากลและมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด และในอนาคตกัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าได้อย่างแน่นอน”