นายบุญประเสริฐ พู่พันธ์ นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ (Franchise and License Association Thailand : FLA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ธุรกิจแฟรนไชส์ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์เกิดการพลิกผัน ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจซึ่งมีมูลค่ารวมราว 2.5 แสนล้านบาทในปี 2562 ลดลงกว่า 20% ทำให้มูลค่ารวมธุรกิจแฟรนไชส์เหลือเพียง 2.1-2.2 แสนล้านบาท
โดยธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ธุรกิจการศึกษาและสปา ซึ่งถูกสั่งปิด 100% จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของภาครัฐ ขณะที่ธุรกิจอาหารซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดในธุรกิจแฟรนไชส์ จะมีทั้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบและเชิงบวก โดยเชิงลบเกิดจากการปิดให้บริการ รวมทั้งการใช้จ่ายที่ลดลง ขณะที่ในเชิงบวกสำหรับผู้ที่ให้บริการดีลิเวอรีอยู่แล้ว จะได้รับอานิสงส์เติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงหันมานิยมรับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้นและสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น
“ธุรกิจที่จะอยู่ได้ต้องปรับตัวให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค วันนี้จึงเห็นร้านต่างๆ หันไปให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ บริการดีลิเวอรี หรือคลาวนด์คิทเช่น ขณะที่ร้านอาหารหรือร้านค้าที่เดิมมุ่งขยายสาขาในห้างหรือศูนย์การค้าเป็นหลัก ก็เริ่มขยายออกนอกห้าง ไปเปิดให้บริการในสถานีบริการน้ำมัน หรือทำเลอื่นๆแทน เพราะเมื่อห้างถูกสั่งปิดก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา”
ธุรกิจแฟรนไชส์จะเติบโตมากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2563 สวนทางกัน แรงกดดันที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนไม่กล้าลงทุน ไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน แม้ในปี 2564 สถานการณ์และแรงกดดันเริ่มลดลง เพราะผู้คนเริ่มมีประสบการณ์ ร้านค้าเริ่มเรียนรู้ที่จะปรับตัว ทำให้เชื่อว่าหากไทยเปิดประเทศได้ในไตรมาส 2 หรือ 3 เชื่อว่าธุรกิจแฟรนไชส์จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ แม้ในปีนี้จะยังไม่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากนัก แต่คาดว่ามูลค่าตลาดจะกลับสู่ 2.5 แสนล้านบาทเช่นเดียวกับปี 2562
“ปกติธุรกิจแฟรนไชส์จะเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี โดยจะเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เพราะผู้คนจะหันมาลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก สถานการณ์ในปี 63 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 บ่งชี้ให้เห็นว่า ส่งผลกระทบกับผู้คนในทุกกลุ่มทั้งผู้บริโภคเอง และผู้ประกอบการทำให้ไม่กล้าลงทุน อย่างไรก็ดีขณะนี้ธุรกิจอาหารเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เพราะสามารถปรับตัวได้ดี แตกต่างจากธุรกิจการศึกษา ที่มีอยู่กว่า 100 แบรนด์ หายไปเกือบ 20% บางรายไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่มีได้ ต้องปิดกิจการไปในที่สุด”
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะมีโครงการคนละครึ่งและเราชนะ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคัก แต่โครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อบางกลุ่มเท่านั้น ขณะที่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกลับไม่ได้รับสิทธิในการเข้าร่วม ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนพยายามเข้าสู่ระบบ มีการจดทะเบียนถูกต้อง แต่เมื่อมีโครงการคนละครึ่งและเราชนะกลับไม่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ ทั้งๆที่เป็นร้านค้าเช่นเดียวกัน บางร้านมีสาขาแค่สาขาเดียว
“รัฐอาจจะลืมไปว่า คนตัวใหญ่ก็มีภาระเหมือนกัน จึงควรเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงและร่วมได้ จึงอยากให้คิดรอบด้านไม่ใช่คิดจะช่วยคนจนหรือช่วยคนตัวเล็ก แต่คนตัวกลางๆ หรือคนตัวใหญ่ เอสเอ็มอี ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เมื่อโดนสั่งปิดก็มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องเช่นกัน” นายบุญประเสริฐ กล่าวและว่า
ในหลายประเทศเช่น สิงคโปร์หรือญี่ปุ่น ซัพพอร์ตผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยให้ให้เงินเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ห้ามลดคน จึงขอฝากว่า อยากให้มองภาพรวมเพราะทุกคนโดนกระทบหมด
อีกหนึ่งปัจจัยบวกที่เชื่อว่า จะทำให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวคือวัคซีน ที่จะสร้างความเชื่อมั่นและทำให้ประเทศสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ซึ่งหากไตรมาส 2 และไตรมาส 3 สามารถเปิดประเทศได้ สถานการณ์ต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น ทำให้ลูกค้ามั่นใจเกิดการลงทุน และธุรกิจแฟรนไชส์ก็จะกลับมา
“หากย้อนไทม์ไลน์ตั้งแต่เกิดโควิดรอบแรกที่ผู้คนเริ่มได้รับผลกระทบ จนกระทั่งกลับมาเริ่มฟื้นตัวในเดือนต.ค.-พ.ย. ที่เริ่มดีขึ้น 80-90% แต่เมื่อเกิดโควิดระลอกใหม่ ธ.ค. ธุรกิจก็ชะลอหมดอีกครั้ง ซึ่งสถานการณ์นี้กระทบต่อผู้ประกอบการทุกขนาด แม้แต่แฟรนไชส์เล็กๆ หลักหมื่นก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ถือเป็นสถานการณ์หนักมากกว่าเหตุการณ์อื่นๆ แม้กระทั่งน้ำท่วมที่ทำให้ต้องปิดร้านหลายสาขา แต่ก็ไม่หนักเท่าครั้งนี้ที่เปรียบเหมือน “สึนามิ” ลูกโต แต่เชื่อมั่นว่า เมื่อเหตุการณ์นี้ผ่านพ้นไป ผู้ที่ยังยืนอยู่ได้คือ ตัวจริง” ของธุรกิจเท่านั้น
ปัจจุบันสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ มีสมาชิกกว่า 400 แบรนด์ รวมมีสาขาไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นร้านค้า จากธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งประเทศที่มีร้านสาขาราว 1 แสนร้านค้า โดยกว่า 60% เป็นธุรกิจร้านอาหาร และอีก 40% เป็นธุรกิจอื่นๆ เช่น แฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษา, สปา, ร้านทำผม ฯลฯ
ที่มา : หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,661 วันที่ 14 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2564