การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) นอกจากจะส่งผลกระทบไปยังภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมแทบจะทุกภาคส่วนแล้ว ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำงาน และการให้บริการที่หลากหลายทั้งจากภาครัฐบาล และภาคเอกชน เพื่อให้การทำงานสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปรับประยุกต์ใช้นำเทคโนโลยี และช่องทางออนไลน์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้น
ล่าสุดกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้มีการออกประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง การตรวจสอบโรงงานและสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายแบบทางไกล (Remote Inspection) เพื่อให้การดำเนินงานด้านการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายในโรงงานและสถานประกอบการวัตถุอันตรายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประกาศดังกล่าวอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)บริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5 พ.ศ.2545) ในการออกประกาศให้การตรวจสอบโรงงานและสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบตามแผนงานที่กำหนดไว้หรือเป็นการขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นในกระทรวงอุตสาหกรรมให้ไปตรวจสอบร่วมกันสามารถดำเนินการตรวจสอบแบบทางไกล โดยใช้แบบรายงานการตรวจโรงงานแบบทางไกล และแบบตรวจติดตามสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายได้ โดยประกาศนี้มีผลบังคับใช้ทันที
สาระสำคัญ ผู้ประกอบกิจการโรงงาน หรือผู้ที่ครอบครองวัตถุอันตราย จะต้องจัดส่งรายงานการตรวจประเมินแบบทางไกล หรือแบบฟอร์มการตรวจติดตามสถานที่เก็บวัตถุอันตรายทาง E-mail , Line ซึ่งหากพิจารณาแล้วเห็นว่ารายงานดังกล่าวมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน หรือการประกอบกิจการไม่สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด อาจให้มีการประชุมทางไกลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น Zoom , Skype , Microsoft Teams , Line VDO Call เพื่อให้สามารถเห็นภาพการประกอบกิจการได้ชัดเจน โดยนำร่องโรงงานอุตสาหกรรมพื้นที่กทม. 5,592 โรงงาน ก่อนขยายผลไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป
“การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการตรวจโรงงานแทนการลงพื้นที่ เป็นการยกระดับการให้บริการของกรมโรงงานเพื่อให้การกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งยังสามารถอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19”
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นไป หรือมีผลบังคับใช้ทันที เป็นไปตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้หน่วยงานในสังกัดนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาล ซึ่ง กรอ. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการออกใบอนุญาต และได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาตโรงงานดังกล่าว
“ระบบ Remote Inspection เป็นการนำอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการตรวจโรงงานแทนการลงพื้นที่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภัยธรรมชาติ หรือจากสถานการณ์อื่น ๆ โดยเจ้าหน้าที่จะประสานงานการตรวจแบบทางไกลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ บนเว็บไซต์ และสมาร์ทโฟน เป็นต้น สอดรับกับยุค New Normal”
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,660 วันที่ 11 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :