สถานการแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้คนทั่วโลกตื่นตัวด้านสุขภาพและมองหาเทคโนโลยีการแพทย์ที่ช่วยเสริมสร้างและฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงมากขึ้น สำหรับในประเทศไทย มีผู้ประกอบการในธุรกิจธนาคารสเต็มเซลล์เอกชนเพียง 3 ราย
โดยปีที่ผ่านมา “ไครโอวิวา” มีการเติบโตในประเทศไทยเพียง 7% จากเป้า 20% สร้างรายได้ 500 ล้านบาท โดยรายได้ที่ลดลงไปเพิ่มในตลาดต่างประเทศจากการที่ชาวต่างชาติหันไปใช้บริการผ่านเครือข่ายในต่างประเทศมากขึ้น
นางจิรัญญา ประชาเสรี ประธานฝ่ายบริหารบริษัท ไครโอวิวา (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจธนาคารสเต็มเซลล์ ในประเทศไทย นับว่าเป็นตลาดที่มีโอกาสการเติบโตสูง เนื่องจากปัจุบันการจัดเก็บสเต็มเซลล์ในประเทศไทย โดย “ไครโอวิวา” ยังมีน้อยมากเพียง 1% หรือ 30,000 ยูนิตเมื่อเทียบกับอัตราการเกิดแต่ละปี และทั่วโลกมีการจัดเก็บ 2 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นการจัดเก็บแบบตลอดชีพ
ปัจุบันผู้บริโภคเริ่มกลับมาให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพและคุณภาพชีวิต เป็นแรงส่งให้ การจัดเก็บสเต็มเซลล์ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง “ไครโอวิวา” จึงขยายการลงทุนไปที่ประเทศเวียดนาม โดยตั้งเป็นธนาคารสเต็มเซลล์ แห่งที่ 4 พราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เศรษฐกิจเติบโต และประชากรมีศักยภาพทางการเงินสูง โดยใช้งบลงทุน 100-150 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี พศ. 2565
ขณะเดียวกันยังมีแผนขยายฐานลูกค้าในต่างจังหวัด ซึ่งมีสัดส่วน 50% ของลูกค้าทั้งหมด โดยเริ่มจากหัวเมืองใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ฯลฯ
อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและเพาะเนื้อเยื่อค่อนข้างสูงราวๆ 50,000-85,000 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเพาะเนื้อเยื่อที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงสุดหลักล้าน ซึ่งผู้บริโภคสามารถชำระค่าจัดเก็บเป็นเงินก้อนครั้งเดียวหรือ ผ่อนชำระสูงสุด 20 ปี ได้
“โควิดไม่ได้มีผลด้านลบโดยตรงกับธุรกิจของเรา โครโอวิวายังเติบโตในระดับที่น่าพอใจ ปัจจุบันมีการวางแผนเก็บ สเต็มเซลล์ในขณะคลอดเพื่อนำไปเพาะเนื้อเยื่อสำหรับรักษาปู่ย่าตายาย หรือคนในครอบครัวที่มีสายเลือดเดียวกันในอนาคต
ในปีที่ผ่านมามีการเบิกใช้สเต็มเซลล์หลักพันเคส ซึ่งเราจะเก็บเนื้อเยื่อตั้งต้นไว้บางส่วนเพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีการแพทย์ยังไปไม่สุด ในอนาคตสเต็มเซลล์ ยังสามารถนำมาใช้รักษาโรคในมิติอื่นๆ ได้”
ปัจจุบันไครโอวิวาดำเนินธุรกิจจัดเก็บและเพาะเนื้อเยื่อสเต็มเซลล์ ในรูปแบบธนาคารสเต็มเซลล์ ใน 3 ประเทศคือ อินเดีย สิงคโปร์และไทยโดยมีเครือข่ายใน 22 ประเทศ
ทั้งนี้ไครโอวิวา (ประเทศไทย) ได้รับการขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (United States Food and Drug Administration หรือ USFDA) ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับการรับรองมาตรฐานจากสมาคมธนาคารเลือดสหรัฐอเมริกา (American Association of Blood Bank : AABB) ทั้งสาขาการจัดเก็บสเต็มเซลล์และการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ด้วย
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,661 วันที่ 14 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
‘หมอรามาฯ’ เฉียบ ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ผู้ป่วยโควิด-19 เคสแรกของโลก