นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าบริษัทสายการบินนกแอร์ ได้ยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอขยายเวลาส่งแผนฟื้นฟูกิจการของนกแอร์ ต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ออกไปอีก 1 เดือน จากวันที่ 15 มีนาคม2564 ไปเป็นก่อนวันที่ 15 เมษายนนี้ ซึ่งสามารถขอขยายระยะเวลายื่นแผนฟื้นฟูออกไปได้อีก2ครั้ง ครั้งละ1เดือน
การขยายเวลาส่งแผนฟื้นฟูครั้งที่ 2 เป็นเพราะบอร์ดต้องการรอความชัดเจนของเรื่องของนโยบายการเปิดประเทศ โดยเฉพาะการทำ Travel Bubble ระหว่างไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่น เพราะทั้งจีน และญี่ปุ่นเป็นลูกค้าหลักของนกแอร์ ตามแผนการกลับมาเปิดบินเส้นทางบินระหว่างประเทศ จึงอยากรอทิศทางในเรื่องของการกักตัวระหว่างกันก่อน
ปัจจุบันนกแอร์ ทำการบินภายในประเทศ ซึ่งก็ไม่มีปัญหาเรื่องของสภาพคล่องแต่อย่างใด โดยปัจจุบันนกแอร์มีเจ้าหนี้ไม่ถึง 300 ราย เจ้าหนี้รายใหญ่เป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินต่างประเทศ ซึ่งหลักๆมี 10 ราย โดยจากการเจรจากับเจ้าหนี้เหล่านี้เกิน 50% สนับสนุนแผนฟื้นฟูของนกแอร์ และได้มีการเจรจาค่าเช่าเครื่องบิน ที่ผู้ให้เช่าเครื่องบินส่วนใหญ่ ยอมค่าเช่าให้นกแอร์30-50%จ่ายเฉพาะชั่วโมงที่ทำการบิน
ส่วนเจ้าหนี้บัตรโดยสารมีน้อยมาก เพราะนกแอร์ได้ทยอยจ่ายคืนตั๋วโดยสารทั้งหมด ส่วนเจ้าหนี้บัตรโดยสารรายใหม่มีจำนวนเพียง 40 คน ซึ่งมีมูลหนี้ไม่ถึง 1 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างทยอยจ่ายคืนหนี้
ส่วนแหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ช่วง 3-5 ปีนี้ เราได้เจรจากับผู้ถือหุ้นคือกลุ่มจุฬางกูรไว้แล้ว รวมถึงการเจรจากับบริษัทในเครือไอร่า ที่ดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว และยังเจรจากับสถาบันการเงินบางแห่งไว้ด้วย โดยอาจจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งวงเงินที่ต้องใช้ก็อยู่ในระดับหลักพันล้านบาท
"วงเงินกู้ฉุกเฉินดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในกรณีถ้าเกิดโควิดระลอกใหม่ แล้วทำให้นกแอร์ต้องขาดสภาพคล่อง รวมถึงใช้ในการขยายธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟู โดยในปีนี้มีแผนจะเช่าเครื่องโบอิ้ง737-800นิวเจนเนอร์เรชั่นมาใช้ในการขยายธุรกิจ การเปิดจุดบินในต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยมองไว้ที่ญี่ปุ่นและจุดบินอื่นๆที่นกแอร์เคยบินอยู่"
สำหรับการหารายได้ในแผนฟื้นกิจการบริษัทจะเน้นเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินผ่านบริษัทในเครือที่ครอบครัวถือหุ้นใหญ่อยู่ อาทิ ซัมมิท, แกรมมี่,ซีเอ็ด ที่ปัจจุบันมีมากถึง350สาขา เรามั่นใจว่านกแอร์จะรอดและเติบโตอย่างเข้มแข็งหลังการฟื้นฟูกิจการดังกล่าว
การปรับโครงสร้างองค์กร ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานอยู่ราว 1.5 พันคน ขณะนี้ยังไม่มีแผนปรับลดพนักงาน เนื่องจากอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้ค่าเช่า และทำสัญญาเช่าเครื่องบิน ซึ่งจะทำให้ทราบถึงจำนวนเครื่องบินที่จะเหลือให้บริการ และเมื่อทราบจำนวนดังกล่าวแล้ว จึงจะประเมินจำนวนลูกเรือ และนักบินได้
ส่วนการเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์ ได้เปิดให้พนักงานที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการสามารถเข้ามาหารือเป็นรายกรณี ซึ่งขณะนี้มีพนักงานสมัครขอเออร์ลี่ไม่ถึง 10 ราย
สำหรับกรณีที่การบินไทยจะขายหุ้นในนกแอร์ที่ถืออยู่ราว13%ในขณะนี้ทางเรายังไม่ได้รับการติดต่อจากการบินไทยแต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :