ลุย S&P ปั้น ‘DelTA’  บุกดีลิเวอรี-เทคโฮม  

19 มี.ค. 2564 | 06:45 น.

S&P ทุ่มกว่า 100 ล้านบาท รุกปั้นโมเดลใหม่ DelTA ชูจุดแข็งดีลิเวอรี-เทคโฮม ตั้งเป้าขยาย 30 สาขาในปีนี้ พร้อมเดินหน้าสร้างความมั่นใจ หลังได้รับรองมาตรฐาน IPHA โรงงานปลอดโควิด จากส.อ.ท.

นายกำธร ศิลาอ่อน กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการผลิตและการเงิน บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ล่าสุดโรงงานผลิตอาหารแช่แข็ง ของเอสแอนด์พี ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ได้รับเครื่องหมายรับรองว่าเป็นสถานประกอบการที่มีการดูแลบุคลากร กระบวนการผลิต และสถานที่ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย (IPHA : Industrial and Production Hygiene Administration) จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ควบคู่ไปยังมาตรฐานต่างๆ ที่ได้รับอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น GMP, HACCP และ ISO22000 เป็นต้น

“การได้รับรองมาตรฐาน IPHA จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น เพราะการรับรองดังกล่าวจะใช้มาตรการจัดการสุขอนามัยใน 3 ด้าน คือ การจัดการสุขอนามัยในสถานประกอบการ กระบวนการผลิต และบุคลากร พร้อมเสริมมาตการป้องกันการปนเปื้อนและแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ด้วย”

ด้านการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทมุ่งขยายสาขาภายใต้รูปแบบใหม่ “DelTA” ซึ่งเป็นโมเดลที่ให้บริการดีลิเวอรีและเทคโฮม เป็นหลัก โดยขณะนี้เริ่มทดลองเปิดให้บริการ 2 สาขา ได้แก่ ในสถานีบริการน้ำมันปตท. สาขาคลองหลวง และสถานีบริการน้ำมันปตท. สาขาราชพฤกษ์ และมีเป้าหมายที่จะขยายให้ได้ 30 สาขาภายในปีนี้

เอสแอนด์พี 1344

“การขยายสาขาในรูปแบบ DelTA เน้นให้บริการดีลิเวอรีและเทคโฮมเป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่นิยมใช้บริการดีลิเวอรีมากขึ้น เดินห้างลดลง แต่ยังต้องการเลือกใช้บริการเอสแอนด์พีอยู่ โดยเบื้องต้นจะใช้ชื่อ “S&P 1344” ไปก่อน”

โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการขยายสาขากว่า 100 ล้านบาท โดยแต่ละสาขามีพื้นที่เฉลี่ย 50-60 ตรม. ใช้เงินลงทุน 3-4 ล้านบาทต่อสาขา เน้นให้บริการในสถานีบริการน้ำมัน, ชุมชน, ตึกแถว ฯลฯ เพื่อให้บริการดีลิเวอรีและเทคโฮมสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนในการขยายสาขา รวมทั้งต้นทุนด้านการบริหารจัดการ เพราะลงทุนน้อยกว่าร้านอาหาร

“จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องปิดให้บริการร้านในห้างต่างๆ ชั่วคราว ในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีบางสาขายังไม่เปิดให้บริการ รวมทั้งปิดสาขาที่ประสบปัญหาขาดทุนไปแล้ว 30-40 สาขา ทำให้ผลประกอบการในปีที่ผ่านมาไม่ดีนัก แต่ปีนี้เอสแอนด์พี จะโฟกัสร้านในรูปแบบดีลิเวอรีและเทคโฮม เพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผลประกอบการโดยรวมกลับมาฟื้นดีขึ้น”

กำธร ศิลาอ่อน

ขณะที่การขยายสาขาร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ จะยังคงมีอยู่โดยเน้นในทำเลที่มีศักยภาพ ทั้งในรูปแบบสแตนด์อะโลน โรงพยาบาล หรือในแหล่งชุมชน เป็นต้น อย่างไรก็ดีคาดว่าในครึ่งปีหลังสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลาย โดยเฉพาะหลังการฉีดวัคซีนจะทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น และเศรษฐกิจฟื้นตัวมากขึ้นและเห็นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2565

 

ด้านการขยายสาขาในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีร้านภัทราในประเทศอังกฤษ และร้านเอสแอนด์พีในประเทศกัมพูชา นายกำธร กล่าวว่า หลังปิดให้บริการร้านภัทรา ในประเทศอังกฤษ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบันยังไม่เปิดให้บริการ แต่หลังจากที่อังกฤษเริ่มฉีดควัคซีน และจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด เริ่มมีการส่งสัญญาณเปิดประเทศได้ในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ขณะที่ร้านค้าต่างๆ จะกลับมาเปิดให้บริการได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ เช่นกัน ส่วนในกัมพูชา ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ

สำหรับผลประกอบการของ S&P ในปี 2563 มีรายได้รวม 5,199 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้ 7,312 ล้านบาท มีกำไร 183 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 314 ล้านบาท 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,662 วันที่ 18 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :