จับตา‘สื่อทีวี’ ยังไร้แรงบวก

20 มี.ค. 2564 | 09:00 น.

เม็ดเงินสื่อโฆษณาในปี 2563 ที่ลดลงกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 11.5% ส่งผลให้เหลือเพียง 9.34 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่มีมูลค่า 1.05 แสนล้านบาท เป็นไปตามที่กูรูในวงการสื่อโฆษณาประเมินไว้ แม้ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี จะส่งสัญญาณดีขึ้น แต่ก็ช่วยเพียงแค่การพยุงให้การติดลบที่เคยคาดการว่าจะสูงถึง 20% กลับมาเป็นติดลบเพียง 11.5% เท่านั้น

แน่นอนว่า “โควิด-19” เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อโฆษณา โดยพบว่า หลายมาตรการไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้านหรือ work from home, การเว้นระยะห่าง, การปิดห้าง/ศูนย์การค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ฯลฯ ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป อยู่บ้านมากขึ้น การเสพสื่อจึงเพิ่มมากขึ้นทั้งสื่อทีวี อินเตอร์เน็ต และวิทยุ

จากตัวเลขของนีลเส็น พบว่า ในเดือนมกราคม มีการใช้จ่ายเงินในสื่อทีวีกว่า 4,737 ล้านบาท หรือคิดเป็น 63% ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ มีการใช้จ่ายเงิน 4,809 ล้านบาท หรือคิดเป็น 66% แม้สื่อทีวีจะเป็นสื่อหลักที่ผู้ประกอบการและเอเจนซี่นิยมใช้ แต่ตัวเลขการเติบโตของเม็ดเงินโฆษณา ก็ยังไม่ส่งผลต่อผู้ประกอบการในสื่อทีวีดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ

ในทางตรงข้ามวันนี้สื่อทีวี ต้องปรับลดต้นทุนควบคู่ไปกับการสร้างรายได้จากช่องทาง อื่นๆ แม้ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมาจะพยายามปรับตัวให้อยู่รอด จนทำให้วันนี้ทีวีกลายเป็นช่องช้อปปิ้งขายสินค้าเกลื่อนจอตั้งแต่ไม้ถูพื้น ถั่งเช่า ครีมหน้าเด้ง อาหารเสริม ฯลฯ

อีกหนึ่งทางเลือกที่สื่อทีวีต้องมีวันนี้คือ การเปิดรับสมาชิก เพื่อต่อยอดให้เกิดเป็นเม็ดเงิน โดยเห็นได้จากช่อง 3 ที่ประกาศรุกปั้น “CH3Plus Premium” อย่างเต็มตัว ซึ่งนอกจากการนำไฮไลท์คอนเทนต์ที่เป็นจุดขายสำหรับคนเมือง ยังดึงนักแสดงในสังกัด เข้าสู่แพลตฟอร์มกับทีวีแบบบอกรับสมาชิกหรือ SVOD โดย “วรุตม์ ลีเรืองสกุล” รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักดิจิตอลและกลยุทธ์สื่อใหม่ บมจ.บีอีซี เวิลด์ ให้เหตุผลในการปั้น CH3Plus Premium ในครั้งนี้ว่า

จับตา‘สื่อทีวี’ ยังไร้แรงบวก

 

CH3Plus Premium เป็นการยกระดับความสนุกที่พัฒนาต่อยอดจาก CH3Plus ให้เป็นศูนย์รวมความบันเทิงออนไลน์แบบบอกรับสมาชิก ที่ยกระดับการรับชมให้มีความพิเศษเฉพาะสมาชิกเท่านั้น โดยสมาชิกของ CH3Plus Premium จะยังคงได้รับความบันเทิงในแบบที่ CH3Plus มีอยู่แล้วทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น การดูสดและดูย้อนหลัง ทั้งละครใหม่ ละครเก่า ซีรีส์นานาชาติ รวมถึงเพลงละคร แต่จะมีฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อการรับชมอีกหลายอย่าง

โดยผู้ชมสามารถรับชมแบบยาวๆ ไร้โฆษณาคั่น และผู้ชมยังสามารถปรับสปีดการรับชมได้สูงสุดถึง 8 ระดับ โดยสามารถเร่งความเร็วของภาพได้สูงสุดถึง 2 เท่าของความเร็วปกติ และสโลว์ได้ช้าสุดถึง 1 ใน 4 เท่า ฉากไหนที่อยากดูนานๆ หรือดูเร็วๆ ก็สามารถเร่งหรือสโลได้ทันที โดยที่ภาพในฉากนั้นๆ จะไม่หายไปไหน และที่สำคัญคือการเชื่อมต่อ CH3Plus Premium บนสมาร์ตโฟนขึ้นหน้าจอ

ส่วนไฮไลต์ CH3Plus Premium คือการได้ใกล้ชิดกับศิลปินดารา ผ่านฟีเจอร์ Live chat ที่ให้แฟนๆ ได้แชทเกี่ยวกับละครหรือเรื่องราวต่างๆ ที่สนใจนอกจากนี้ยังมีคอนเทนต์พิเศษส่วนตั๊วส่วนตัวของนักแสดง ที่เป็นคอนเทนต์เกี่ยวไลฟ์สไตล์ของนักแสดงแต่ละคนมาให้สมาชิกได้รับชม เป็นคอนเทนต์หรือคลิปส่วนตัวน่ารักๆ ที่ไม่เคยมีใครเห็นที่ไหนมาก่อนสร้างความสนุกสนานและความใกล้ชิดกับนักแสดงมากยิ่งขึ้นไปอีก และแถมด้วยกิจกรรมพิเศษสำหรับสมาชิกที่จะตามมาอีกมากมาย แน่นอนว่า เม็ดเงินที่ได้จะไหลเข้าสู่บีอีซีโดยตรง จากสมาชิกที่เข้ามากว่า 5 แสนคน

ไม่เพียงช่อง 3 เพราะช่อง 7 ก็เลือกที่จะ รีแบรนด์ “บักกาบู” กลับมาเป็นไฮไลท์ในการสร้างฐานผู้ชมและเม็ดเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งนอกจากการเพิ่มคอนเทนต์ให้หลากหลายตอบรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ยังมีระบบสมาชิกที่สามารถเลือกชมรายการได้ ทั้งคอนเทนต์รายการย้อนหลัง (Re-run) และรายการที่นำกลับมาทำใหม่ (Re-make) จากช่อง 7HD รวมถึงรายการที่ผลิตและสร้างสรรค์เอง โดยครีเอเตอร์หน้าใหม่ ออนไลน์ซีรีส์สำหรับคนรุ่นใหม่ และรายการออนไลน์เพื่อสังคม

การปรับเปลี่ยนของทั้งช่อง 3 และ ช่อง 7 ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่การปรับตัวที่เกิดขึ้นจะเห็นอีกในหลายช่อง ไม่ว่าจะเป็น “นิว 18” ที่ปล่อยให้ “JKN” เช่าเวลาแบบ 24 ชั่วโมงนาน 2 เดือน ซึ่งแม้เบื้องต้นจะเป็นการประกาศความร่วมมือผลิตรายการร่วมกันควบคู่กับการเช่าเวลา แต่ในระยะยาวยังคงต้องจับตามองว่า จะยังคงรูปแบบเช่นนี้ต่อไปได้หรือไม่

เส้นทางสื่อทีวี แม้จะยังเป็นสื่อหลักที่มีเงินสะพัดมหาศาล แต่ยังไร้ปัจจัยบวกที่จะมากระตุ้นเม็ดเงินให้คึกคัก ผู้ประกอบการจะฝืนทวนกระแสและแบกรับภาระต้นทุนได้อีกนานแค่ไหน ช่วงเวลาอีก 8 ปีที่เหลืออยู่จะเดินหน้าหรือยืนหยัดได้ต่อหรือไม่ ยังต้องจับตาต่อไป

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 8 ฉบับที่ 3,662 วันที่ 18 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :