รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกรรมการ ส่งเสริมปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ได้มีประกาศแต่งตั้งปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2564 สาระสำคัญก็เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทรงภูมิปัญญาด้านการเกษตรในสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณควงามดี มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ สมควรเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดินให้ได้รับการดูแลด้านสวัสดิการ และสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ และความสามารถสู่สังคม
อาศัยอำนาจตามความในข้อที่9 (1) แห่งระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการส่งเสริมและการจัดสวัสดิการสำหรับปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน พ.ศ. 2551 ประกอบมติคณะกรรมการส่งเสริมปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ในคราวประชุมครั้งที่1/2564 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 จึงแต่งตั้งบุคคลเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2564 จำนวน 3 สาขา ดังนี้
1.ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายสุชล สุขเกษม จังหวัดสมุทรสงคราม
2.ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล (นายก สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย) จังหวัดชุมพร
3.ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชุนและเครือข่าย ได้แก่ นายสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ จังหวัดชุมพร
“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ 3 ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ถึงความรู้สึกที่ได้รับการแต่งตั้ง“ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน” ประจำปี 2564 เริ่มจาก นายสุชล สุขเกษม กล่าวถึงความรู้สึกว่า ตื่นเต้นมาก รู้สึกอยากจะกระโดดลงไปในคลองเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาเก็บข้อมูล ซึ่งไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ เพราะตอนแรกเห็นว่า 77 จังหวัดเอาแค่คนเดียว
“ผมมีพื้นที่ 1 ไร่ สามารถสร้างรายได้ 2 แสนบาทต่อปี ซึ่งก่อนหน้านี้ ย้อนไปเมื่อปี 2558 ในหลวงรัชกาลที่9 ท่านทรงประทับที่ รพ.ศิริราช ท่านทรงทอดพระเนตรรายการทีวีช่องหนึ่ง ท่านเลยส่งมหาดเล็กมาดูงานที่แปลงผมว่ามีวิธีการทำอย่างไร ได้ ถึง 2 แสนบาท ขณะที่พระองค์ท่านทำได้ 1 แสนบาทต่อปี (มหาดเล็กเล่าให้ฟัง)”
นายสุชล กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นปี 2559 ท่านสวรรคต ปี 2560 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้หน่วยงานของพระองค์ท่านค้นหาพสกนิกรที่ทำการเกษตรตามรอยของในหลวงรัชกาลที่9 พระองค์ท่านจะให้รางวัล ซึ่งผมก็ได้รับรางวัลนี้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ที่พระราชวังสวนจิตรลดา นี่คือความภาคภูมิใจที่ได้ดำเนินตามรอยในหลวงรัชกาลที่9 ทำให้ประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้
เช่นเดียวกับ นายสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ กล่าวถึงความรู้สึกว่า ดีใจ เป็นเกียรติมาก ในนามของเกษตรกร และยินดีที่ได้รับตำแหน่งนี้ รู้สึกดีใจมากๆ และภูมิใจ ที่เป็นตัวแทนของจังหวัดชุมพรทุกท่าน ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ และที่ทำอยู่ จะเป็นปราชญ์หรือไม่ ผมทำอยู่แล้ว ผมทำตลอด และก็ทำต่อไป ไม่ว่าจะได้เป็นหรือไม่ ย้ำว่า “ผมทำอยู่แล้ว”
ปิดท้าย นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล และนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย กล่าวว่า การได้รับรางวัลนี้ ที่สุดของชีวิตแล้ว เป็นบทบาทหน้าที่ของการทำงานอย่างต่อเนื่องในงานสาธารณะของการส่งเสริมอาชีพดูแล สร้างความยั่งยืนอาชีพในสวนทุเรียน เมื่อได้รับตำแหน่งแล้วก็จะทำหน้าที่ที่ทำอยู่แล้วก็คือทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง แล้วทำให้ยั่งยืน และมั่นคงในอาชีพนี้ต่อไป