ดีเดย์ 1 เม.ย.- 30 มิ.ย.ปิดทะเลอันดามัน 3 เดือน

29 มี.ค. 2564 | 23:00 น.

กรมประมง ประกาศปิดทะเลอันดามัน 3 เดือน ตั้งแต่1 เม.ย.- 30 มิ.ย.เพื่อคุ้มครองปลามีไข่ พร้อมเปิดเงื่อนไข กำหนดชนิด-วิธีการของเครื่องมือประมง ที่ทำได้ในช่วงประกาศมาตรการ ย้ำหากฝ่าฝืนปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 30 ล้านบาท

กรมประมงได้ออกประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามันประจำปี 2564 ในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง โดยจะปิดทะเลอันดามัน ระหว่างวันที่1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2564 ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมของการแพร่กระจายของสัตว์น้ำ คืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงได้อย่างยั่งยืน


นายมีศักดิ์  ภักดีคง อธิบดีกรมประมง  กล่าวว่า มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายนของทุกปี ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนที่กรมประมงได้มีการประกาศใช้มาอย่างยาวนานกว่า 36 ปี (เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2528) 


โดยมีการปรับปรุงมาตรการเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะของทรัพยากรสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และสังคมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพประมงที่มั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องชาวประมง


นอกจากนั้นแล้วยังมีผลการศึกษาทางวิชาการยืนยันว่ามาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามันในปี 2563 ในช่วงเวลาเดียวกัน (ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน) ที่ผ่านมา มีความเหมาะสมทั้งในเรื่องของพื้นที่ ห้วงเวลา และ เครื่องมือที่อนุญาตฯ เนื่องจากมีผลการติดตามมาตรการฯ ดังนี้ 


ในช่วงเวลาการนำใช้มาตรการฯ พบสัตว์น้ำชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีความสมบูรณ์เพศสูง และพบสัตว์น้ำวัยอ่อนมีความชุกชุมและแพร่กระจายหนาแน่นสูงในพื้นที่ โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคมที่มีความหนาแน่นสัตว์น้ำสูงสุด (690 ตัว/10 ตร.ม.) ส่วนช่วงเวลาหลังมาตรการฯ พบสัตว์น้ำวัยอ่อนขนาดเล็ก
 

นอกจากนี้ จากสถิติผลจับสัตว์น้ำทั้งหมดจากฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 207,236 ตันใน ปี 2560 เป็น 290,035 ตันใน ปี  2563 และจากการติดตามเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่อนุญาตให้ทำประมงในพื้นที่มาตรการฯ ได้ เช่น อวนกุ้ง และอวนปู พบว่ามีการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในขนาดที่เหมาะสม 


จากผลการศึกษาดังกล่าว กรมประมงจึงประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามันประจำปี 2564 ในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2564 ครอบคลุมพื้นที่ 5,000 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง


โดยเริ่มตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ตามประกาศ และกำหนดชนิดของเครื่องมือประมง วิธีการทำการประมง และเงื่อนไข ที่สามารถทำการประมงในช่วงประกาศใช้มาตรการฯ ดังนี้ 


 1. เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 14 เมตร และต้องทำการประมงในเวลากลางคืนนอกเขตทะเลชายฝั่ง


 2. เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตัก ทำการประมงเฉพาะในเวลากลางวัน และต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง


 3. เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีขนาดช่องตาอวน ตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวน ไม่เกิน 2,500 เมตรต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และเครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีช่องตาอวนตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง


 4. เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง อวนหมึก 


 5. เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง


 6. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ  ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง


 7. ลอบหมึกทุกชนิด


 8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง


 9. คราดหอยที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 18 เมตร มีความกว้างของปากคราดไม่เกิน 3.5 เมตร ช่องซี่คราดไม่น้อยกว่า 1.2 เซนติเมตร และจำนวนของเครื่องมือคราดหอยต้องไม่เกิน 3 อัน (หน่วย) ต่อเรือกล 1 ลำ ที่ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง


โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทำการประมงของเครื่องมือคราดหอยที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2560


 10. อวนรุนเคย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558


 11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก แผงยกปูจักจั่น


 12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง


 13. การใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงอื่นใด โดยเครื่องมือที่ใช้ประกอบต้องไม่เป็นเครื่องมือประมงพาณิชย์ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดให้การใช้เรือประมงทุกขนาดประกอบเครื่องมือทำการประมงบางประเภทเป็นประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2560 


และต้องไม่เป็นเครื่องอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ถูกห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมงและพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๖๐ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560


 

สำหรับการทำการประมงโดยใช้เครื่องมือในข้อ 3 , 4 , 5 , 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ลงวันที่  9 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 และจะต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมง ตามมาตรา 67  69 หรือ 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000  บาทถึง 30 ล้านบาท 


ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครอง ซึ่งได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็งใช้หลักการทำงาน 3 ป. คือ ป้อง ปราม และปราบ 

 

นายมีศักดิ์  ภักดีคง อธิบดีกรมประมง

นายมีศักดิ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ในปีนี้กรมประมงจะไม่ได้จัดพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดของโควิด-19 (COVID-19) แต่การใช้มาตรการตามประกาศฯ ยังคงเป็นไปตามเดิม


"ขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมายและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ อย่างเช่นที่ท่านได้ให้ความร่วมมือตลอดมา ซึ่งกรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน และเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพประมงต่อไป"