BA ชิง MRO เฟส 2 ลุยลงทุนเมืองการบิน

03 เม.ย. 2564 | 20:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2564 | 03:02 น.

BA ยันโควิด-19 ไม่กระทบแผนขยายลงทุนอู่ตะเภา แจงพร้อมยื่นประมูล MRO เฟส 2 กันงบไว้ 3 พันล้านบาท ทั้งเดินหน้าร่วมลงทุนพัฒนาเมืองการบิน โดยเริ่มลงทุนเฟส 1 กว่า 3.1 หมื่นล้านบาทในปี 65 พร้อมดีลหาแหล่งเงิน 4 พันล้านบาทเสริมสภาพคล่องธุรกิจการบินฝ่าวิกฤติโควิด มุ่งปรับปรุงแผนใช้เครื่องบิน-เส้นทางบินประคองตัวรอธุรกิจฟื้น 

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าแม้ธุรกิจการบินจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ BA ยังคงเดินหน้าลงทุนโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้นในสนามบินอู่ตะเภา 

ซึ่งนอกจากการร่วมลงทุนกับกิจการร่วมค้าบีบีเอส และร่วมกันจัดตั้ง บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์ เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เพื่อพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกแล้ว BAยังสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาระยะที่2 (MRO เฟส2)ด้วย

ในส่วนของMRO เฟส 2 ที่จะเปิดให้เอกชนเข้าไปลงทุน ซึ่งจะมีการแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนนั้น BA ก็ยืนยันว่าจะเข้าไปร่วมประมูล คาดการณ์งบลงทุนไว้ราว 3 พันล้านบาท เป็นการก่อสร้างโรงซ่อมอากาศยานราว 1 พันล้านบาท และการจัดหาอุปกรณ์ราว 2 พันล้านบาท เพื่อรองรับเครื่องบินของลูกค้าและเครื่องบินของบางกอกแอร์เวย์สเอง (แอร์บัสเอ 320) เพราะมองว่าการลงทุนในสนามบินอู่ตะเภากว่าจะแล้วเสร็จสถานการณ์ของธุรกิจการบินก็คงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ภาคตะวันออก ซึ่ง BAได้เข้าไปร่วมลงทุนระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ขณะนี้ทุกอย่างเดินหน้าเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ โดยขณะนี้ทางกลุ่มผู้ลงทุนได้ส่งแผนแม่บทการพัฒนาโครงการฯเพื่อกำหนดตำแหน่งและจุดเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานแลสาธารณูปโภคที่สำคัญต่างๆ ในโครงการให้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ไปแล้ว

อาทิ การยืนยันแนวเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การแสดงแนวเส้นทางระบบโครงข่ายถนนเชื่อมต่อสู่สนามบินและเมืองการบิน การแสดงข้อมูลของรันเวย์ที่ 2 ที่ทางกองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ การแสดงแนวเส้นทางของระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา และระบบเชื้อเพลิงเข้าสู่สนามบิน BA ชิง MRO เฟส 2 ลุยลงทุนเมืองการบิน

โดยการลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะมีทั้งหมด 4 เฟส โดยในปีนี้จะเริ่มลงทุนเฟส1 ใช้เงินลงทุน31,219 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ได้ในปีหน้า เพื่อรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน แล้วเสร็จปี68 เนื่องจากคาดว่าการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)จะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส1 ปี65 และขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสาร

จากนั้นทางกลุ่มผู้ลงทุนก็จะมีการเพิ่มทุนในบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นเแนล เอวิเอชั่น จาก 4.5 พันล้าน เป็น 9พันล้านบาท ส่วนการลงทุนในเฟส2 จะเริ่มก็ต่อเมื่อมีผู้โดยสารใช้บริการเกินกว่า 85%ในเฟส1

นายพุฒิพงศ์ ยังกล่าวต่อถึงธุรกิจการด้านการบินของBAว่า นอกจากบางกอกแอร์เวย์สจะเป็น 1 ใน 7 สายการบินของไทยที่ร้องขอการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า(ซอฟต์โลน)จากรัฐบาลแล้ว เรายังอยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันการเงิน ในการหาแหล่งเงินราว 4,000 ล้านบาท เพิ่มนำมาเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจการบิน เพื่อฝ่าวิกฤติโควิด-19 ซึ่งกว่าสถานการณ์การบินจะกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติน่าจะเป็นช่วงปี68

โดยขณะนี้เราต้องการรอความชัดเจนในเรื่องของซอฟต์โลนจากรัฐบาล ซึ่งสายการบินของไทยทั้ง 7 สายการบินได้ร้องขอการสนับสนุนรวมกันอยู่ที่ราว 1.4 หมื่นล้านบาท แต่ในส่วนของบางกอกแอร์เวย์สขอไปราว 2,400 ล้านบาท ทางเอ็กซิม แบงก์ ก็จะติดต่อไปในแต่ละสายการบิน เบื้องต้นเราก็อาจได้บางส่วนสักครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็ต้องรอนโยบายในเรื่องนี้จากรัฐบาลก่อนว่าจะได้หรือไม่หรือได้เมื่อไหร่

สถานการณ์ ณ วันนี้เมื่อมีการฉีดวัคซีน และไทยส่งสัญญาณเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจากภาครัฐ อาทิ โครงการ “เราเที่ยวกัน” โครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” และแคมเปญกระตุ้นตลาดของสายการบินต่างๆในขณะนี้

ทำให้เราประเมินว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาส4 ปี2564 ไปจนถึงปี 2565 คาดว่าการเดินทางจะกลับขึ้นมาราว30-40% จากนั้นในปี2566 -2567 ก็น่าจะกระเตื้องขึ้นอีก แต่กว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ น่าจะเป็นช่วงปี68 ซึ่งการฟื้นตัวน่าจะเป็นในลักษณะU Shape เพราะสถานการณ์ไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัยจากโควิดเท่านั้น แต่มีเรื่องของเศรษฐกิจและกำลังซื้อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

แต่ด้วยความที่กว่าจะฟื้นตัวต้องใช้เวลาสายการบินเองก็ต้องวางแผนเรื่องสภาพคล่อง การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ การปรับปรุงแผนใช้เครื่องบินปรับปรุงเส้นทางบิน เพื่อประคองตัวขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อรอให้กลับสู่สภาพปกติ เพราะอย่างไรการเดินทางท่องเที่ยวของไทยยังไงก็ต้องกลับมา 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,667 วันที่ 4 - 7 เมษายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: