วันที่ 2 เมษายน 2564 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดี กรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่แจ้งประกาศปรับราคาแนะนำของไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกรลงมาอยู่ที่ราคา 2.30 บาทต่อฟอง เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 นั้น กรมปศุสัตว์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์หรือ เอ้กบอร์ด (Egg Board) ได้มีการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์การผลิตไข่ไก่ในปัจจุบัน พบว่ามีแม่ไก่ไข่ยืนกรงประมาณ 50 ล้านตัว ผลิตไข่ไก่ได้ประมาณ 41 – 42 ล้านฟองต่อวัน โดยในช่วงนี้ปริมาณไข่ไก่ขนาดเล็กเบอร์ 4 - 5 ถูกผลิตและจำหน่ายออกมาสะสมอยู่ในตลาดจำนวนมาก สาเหตุจากมีแม่ไก่สาวขึ้นมาเลี้ยงทดแทน
ประกอบกับสภาพอากาศร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้แม่ไก่ไข่กินอาหารน้อยลง ไข่ไก่ที่ออกมาในช่วงนี้จึงมีขนาดเล็กทำให้จำหน่ายได้ในราคาต่ำ และที่สำคัญคือจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดน้อยลงมากอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อัตราการบริโภคไข่ไก่ภายในประเทศลดเหลือประมาณ 38 ล้านฟองต่อวัน จากภาวะปกติ 39 – 40 ล้านฟองต่อวัน
ดังนั้นประมาณการว่ามีไข่ไก่ส่วนเกินล้นตลาดในประเทศประมาณ 2 - 3 ล้านฟองต่อวัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้นโดยอนุมัติเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) จำนวน 51 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเป็นค่าบริหารจัดการในการส่งออกไข่ไก่ส่วนเกิน จำนวน 100 ล้านฟอง ร่วมกับการผลักดันของผู้ประกอบการเองอีก 100 ล้านฟอง รวม 200 ล้านฟอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการเก็บรวบรวมไข่ไก่เข้าห้องเย็นและทยอยส่งออกไข่ไปจำหน่ายต่างประเทศอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่รวดเร็วขึ้น กรมปศุสัตว์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ Egg Board และดูแลในส่วนภาคการผลิต จึงได้กำหนดมาตรการปรับสมดุล Demand – Supply เพื่อเสริมควบคู่กับมาตรการเร่งรัดรวบรวมไข่ส่งออก 200 ล้านฟองโดยกรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือปรับลดปริมาณการเลี้ยงไก่ไข่ยืนกรงในฟาร์มผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 3 ล้านตัว ภายใน 1 เดือน
เพื่อปรับสมดุลการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์กำลังซื้อและนักท่องเที่ยวที่ลดลงจาก "โควิด– 19" ซึ่งมั่นใจว่าทั้งมาตรการรวบรวมไข่ส่งออก 200 ล้านฟอง และการปรับลดปริมาณไก่ไข่ยืนกรง 3 ล้านตัว จะส่งผลให้ปริมาณไข่ไก่ส่วนเกินที่สะสมในตลาดภายในประเทศกลับสู่ภาวะปกติและการปรับลดแม่ไก่ยืนกรงให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้ จะสามารถรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงพออยู่ได้ไม่ขาดทุนและไม่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง