ความตายเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนล้วนต้องเจอ แต่การเสียชีวิตอย่างกะทันหันและไม่คาดคิด เช่น จากอุบัติเหตุ การฆาตกรรม การฆ่าตัวตาย การใช้ยาเกินขนาด เป็นต้น มีความแตกต่างจากการเสียชีวิตแบบ “ปกติ” ซึ่งหมายความถึงการเสียชีวิตที่ครอบครัวรับรู้ถึงความเป็นไปได้และมีเวลาเตรียมตัวสำหรับการจากไปนั้น
โดยครอบครัวสามารถรวมตัวคนที่รักเพื่อบอกลา ขออภัยกัน และเยียวยาความขุ่นข้องหมองใจที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีเวลาในการจัดทำแผนการจัดงานศพได้ล่วงหน้า รวมถึงการส่งต่ออำนาจและบทบาทต่างๆในบริษัทให้เรียบร้อย
ขณะที่การเสียชีวิตอย่างกะทันหันหรือรุนแรงไม่มีเวลาสำหรับการอำลา คนที่รักถูกพรากไปในชั่วพริบตาและคนที่ยังอยู่ก็ตกตะลึง พร้อมกับสิ่งที่ยังค้างคาอยู่มากมาย สำหรับธุรกิจครอบครัวปัญหานี้จะใหญ่มากหากคนๆ นั้นเป็น “คีย์แมน”
ปฏิกิริยาแรก เมื่อการเสียชีวิตเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน จะมี 2 กระบวนการคู่ขนานเกิดขึ้น โดยกระบวนการแรกคือความเศร้าโศกนั่นเอง ปฏิกิริยาแรกคือจะช็อคและในหลายๆกรณีจะมีอาการรุนแรง ตามสถิติชี้ให้เห็นว่าคนจำนวนมากถึง 25% จะมีอาการของโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (post-traumatic stress disorder -PTSD) ซึ่งอาจเป็นความคิดแทรกซ้อน (intrusive thought) การคิดซ้ำๆ การนอนไม่หลับ เป็นต้น
โดยอารมณ์ที่เกิดจากความเศร้าโศก เช่น ความเศร้า ความรู้สึกผิด ความโกรธ ความกลัว ความวิตกกังวลจะเพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งที่เรียกว่าบาดแผลความเศร้าโศกที่ซับซ้อน ซึ่งหากกลุ่มอาการนี้ไม่ได้รับการรักษา อาจคงอยู่เป็นเวลานานโดยมีผลกระทบต่อสุขภาพและความผาสุกของสมาชิกครอบครัวที่เหลืออยู่
นอกจากนี้จะต้องมีการจัดการกับสื่อให้ดี โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีชื่อเสียง ซึ่งในกรณีของการฆาตกรรม การฆ่าตัวตาย การใช้ยาเกินขนาด เป็นต้น อาจถูกสื่อนำเสนออย่างดุเดือดและไม่ยอมหยุด
ขณะที่ครอบครัวอาจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ บทบาทจะเปลี่ยนไปอย่างมาก ความยากลำบากใด ๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้จะรุนแรงขึ้นและสร้างปัญหาให้เกิดผลกระทบในวงกว้างและเป็นเวลานาน สิ่งสำคัญคือครอบครัวต้องเข้าใจกระบวนการของความเศร้าโศกที่กระทบกระเทือนจิตใจและวิธีรับมือ
เช่น เข้าใจว่าความรู้สึกช็อคจะเกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ของช่วงเดือนแรกเช่นเดียวกับอารมณ์ที่รุนแรง ควรปล่อยให้มีพื้นที่สำหรับอารมณ์เหล่านี้ในตัวคุณเองและสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ตระหนักว่าสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนมีวิธีมือกับความเศร้าโศกไม่เหมือนกัน
ปฏิกิริยาหลัง กระบวนการที่สอง จะเป็นเรื่องของการมีแผนสืบทอดกิจการหรือไม่มี จากการศึกษาของ Campden Wealth เมื่อไม่นานมานี้พบว่ามีครอบครัวเพียง 54% ที่มีแผนสืบทอดกิจการ แม้ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนแต่ก็บ่งชี้ว่าครอบครัวเกือบครึ่งหนึ่งไม่มีแผนสืบทอดกิจการไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
ดังนั้นเมื่อเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ครอบครัวจึงไม่เพียงจะมีปัญหาทางอารมณ์ที่ซับซ้อนจากความเศร้าโศกเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญปัญหาว่าธุรกิจครอบครัวจะดำเนินต่อไปได้อย่างไร
โดยไม่มีเสาหลักหรือผู้สืบทอด ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้ความเศร้าโศกหนักหน่วงขึ้น เนื่องจากการตัดสินใจในขณะที่อยู่ในความตกใจและความเศร้าโศกไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดเสมอไปสำหรับครอบครัว ดังนั้นควรพิจารณาจัดทำแผนการสืบทอดกิจการในขณะที่ยังมีชีวิตที่สุขสบายแทนที่จะพยายามวางแผนในเงามืดของความตายและความเศร้าโศก จริงอยู่ที่ไม่มีใครชอบพูดเรื่องเหล่านี้นัก และมักคิดเสมอว่าจะไม่เกิดขึ้นกับตัวเองหรือครอบครัวของตน ซึ่งก็อาจเป็นเช่นนั้น
แต่จากตัวอย่างคนมากมายแสดงให้เห็นว่าความตายสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้แผนการสืบทอดกิจการจะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวดำเนินต่อไปได้และทำให้สมาชิกในครอบครัวมีความสบายใจ โดยมั่นใจว่าการสืบทอดกิจการจะไม่ใช่หนึ่งในปัญหาที่ซ้ำเติมความเศร้าโศกที่หนักหน่วงอยู่นั้น
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,667 วันที่ 4 - 7 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :