การระบาดของโรคโควิด-19 รอบแรกส่งผลแรงงานต่างด้าวที่เป็นกำลังสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ทั้งอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงแรงงานในภาคเกษตรเก็บผลไม้ เดินทางกลับประเทศเป็นจำนวนมาก ครั้นพอสถานการณ์โควิดในไทยคลี่คลายหลังโควิดสองรอบแรก แรงงานต่างด้าวก็ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้จากรัฐบาลไทยยังห้ามแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามา เพราะเกรงจะนำเชื้อโควิดกลับเข้ามาระบาด
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกทูน่ากระป๋องที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก (ปี 2563 ไทยส่งออกทูน่ากระป๋อง 6.9 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 4%) กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าว แม้เวลานี้ในไลน์การผลิตจะมีการนำระบบอัตโนมัติมาช่วยก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ยังต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทั้งนี้เมื่อรวมการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมทูน่า และในอุตสาหกรรมอาหารอื่น ๆ เช่น โรงงานไก่สด ไก่แปรรูป อาหารทะเลแปรรูป ผักผลไม้ส่งออก คาดการขาดแคลนจะเป็นหลักแสนคนรวมกัน
“เวลานี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเกือบทุกเซ็กเตอร์โดนหมด ทูน่า ไก่ ก็ขาดเยอะ มองหลังสงกรานต์จะยิ่งหนัก อุตสาหกรรมอาหารโดนกันเกือบหมด ไม่ใช่เฉพาะขาดเฉพาะแรงงานเมียนมา แรงงานกัมพูชาก็ขาด ผลกระทบจากแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศช่วงมีการระบาดของโควิด พอจะกลับมาก็ยังมาไม่ได้ รัฐบาลยังไม่ให้เข้า-ออก ใช้แรงงานข้ามจังหวัดก็ยังทำไมได้ เวลานี้ในพื้นที่มหาชัยขาดแคลนหนักมาก ที่ผ่านมามีแรงงานเถื่อน(ที่ไม่ได้ลงทะเบียนเพื่อพิสูจน์ตัวตน) 6-7 หมื่นคนจะดึงให้เข้าระบบได้อย่างไร คงต้องคุยกับกระทรวงแรงงาน ส่วนแรงงานตาม MOU ที่จะนำเข้ามา ตอนนี้คงต้องลืมไปก่อน”
กระทบรับคำสั่งซื้อ
สอดคล้องกับนายคึกฤทธิ์อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ที่เผยว่า นอกจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปไก่ส่งออกเวลานี้จะมีประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ใช้แรงงานต่าง ด้าวเป็นส่วนใหญ่ ในภาพรวมทุกโรงรวมกันคาดจะขาดแคลนแรงงานในการตัดแต่งเนื้อไก่ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคน กระทบต่อการรับคำสั่งซื้อที่ไม่สามารถทำได้เต็มที่ รวมถึงกระทบผู้ประกอบการบางรายที่มีการขยายโรงงานเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เริ่มกลับมาหลังสถานการณ์โควิด ทั้งนี้ปี 2564 ทางสมาคมตั้งเป้าส่งออกสินค้าไก่ทั้งไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ที่ 9.5 แสนตันเพิ่มขึ้นจากที่แล้วที่ส่งออกได้ 9.38 แสนตัน แต่หากปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังแก้ไม่ตก เป้าหมายดังกล่าวคงไปไม่ถึง
จี้รัฐเร่งปลดล็อก
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในการผลิต เกิดจากโควิดรอบแรกแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศจำนวนมาก และสุดท้ายก็ยังกลับมาไม่ได้ จากยังติดมาตรการคุมเข้าโควิดของไทยและยังห้ามเข้า ซึ่งยอมรับว่าผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในหลายอุตสาหกรรมที่ยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก เฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารที่เวลานี้ตลาดโลกเริ่มฟื้นตัวจากโควิด และคำสั่งซื้อเริ่มเข้ามามากขึ้น มีผลให้ต้องชะลอรับคำสั่งซื้อ อาจกระทบการส่งออกของไทยที่ตั้งเป้าไว้ปีนี้จะขยายตัวได้ 4%
ทั้งนี้จากแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนกว่า 3 ล้านคน ช่วงตื่นตระหนกจากโควิดคิดว่ากลับประเทศแล้วจะปลอดภัยกว่าอยู่ในไทย ได้กลับไปสัดส่วนประมาณ 20% โดยรวมเป็นหลักแสนคนที่ยังกลับมาไม่ได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาคงต้องรอจังหวะที่มีการฉีดวัคซีนทั้งสองฝ่าย และการันตีได้ว่ามีความปลอดภัย ซึ่งทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีต่างจุดหมายปลายทางเดียวกันคือความเพียงพอของวัคซีนป้องกันโควิด ที่ต้องเร่งฉีด และต้องมีจำนวนเพียงพอ นำมาซึ่งการเปิดประเทศและนำเข้าแรงงานกลับมาทำงานได้
“ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในการผลิต เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงภาคการส่งออกของไทย นอกจากยังมีปัญหาเรื่องระบบโลจิสติกส์จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือสูง ความแออัดในท่าเรือแหลมฉบัง การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในสหภาพยุโรป ปัญหาชิปขาดแคลนที่กระทบต่อหลายอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น”
ทั้งนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมโดยเร็ว อาทิ การรับแรงงานที่มีการอพยพจากกรณีสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา
เก็บผลไม้ยังขาดหนัก
ด้านนายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในการเก็บผลไม้ในจังหวัดยังมีอยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากกัมพูชาที่ใช้ในการเก็บลำไย และมังคุด ที่ผ่านมาเจ้าของสวนมีการนำแรงงานจากทางภาคใต้ และแรงงานต่างด้าวที่ตกค้างเข้ามาเสริม ทำให้ยังพอประทังความรุนแรงของปัญหาได้ ไม่ถึงกับไม่มีคนเก็บจนต้องปล่อยให้เสียหาย หรือยืนต้นตาย อย่างไรก็ดีช่วงนี้ผลไม้ทุเรียนของจันทบุรีทยอยออกมามาก และมังคุดจะออกต้นเดือนพฤษภาคมทำให้ต้องการแรงงานเพิ่ม ซึ่งแต่ละรายก็พยายามแก้ปัญหากันไป
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ชาวบางใหญ่ผวา นนทบุรีเปิดไทม์ไลน์ แรงงานต่างด้าวติดโควิด เดินห้าง-ขึ้นรถสาธารณะเพียบ
ตะลึงแรงงานต่างด้าวใน “สถานกักตัวของตม.” ติดโควิดเพิ่มถึง 297 ราย
"สมุทรสาคร"พบแรงงานต่างด้าวติดโควิดอีก30 ราย
ครม.เคาะงบ 438 ล้าน ทำสถานกักกัน "แรงงานต่างด้าว-หนีเข้าเมือง"
ผงะพบแรงงานต่างด้าวเกือบครึ่งโรงงานในปทุมธานีติดเชื้อโควิด-19