จากโควิดสองรอบแรกที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั่วประเทศอย่างรุนแรง ครั้นพอจะฟื้นตัวลืมตาอ้าปากได้ ก็มาเกิดการระบาดในรอบ 3 ที่ยังไม่รู้จะคลี่คลายเมื่อใดนั้น
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาพันธ์ฯเตรียมนำเสนอแนวทางการขอยืดระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) กับกรมสรรพากรออกไป 3 เดือน (จากปกติต้องยื่นภายใน 31 พ.ค.) ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(SMEs)ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม
แนวทางดังกล่าวเป็นการหารือร่วมจนได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันระหว่าง 5 องค์กร ประกอบด้วย 1. สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย 2.สมาคมสำนักงานบัญชีไทย 3.สมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากรแห่งประเทศไทย 4.สมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพ และ 5.สมาคมสำนักงานบัญชีและกฎหมาย โดยมองว่าจะเป็นการช่วยเหลือในเรื่องของสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี เพื่อให้มีเงินทุนมาหมุนเวียนใช้ในการประคองธุรกิจในช่วงที่เกิดวิกฤติ โดยมองว่าการยืดระยะเวลายื่น ภ.ง.ด.50 จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ยังจะดำเนินการเรื่องการติดตามผลของมาตรการที่ทางสมาพันธ์ฯ เคยนำเสนอต่อนายกฯไปตั้งแต่โควิด-19 ระบาดรอบแรกถึงรอบสอง เรื่อมาตรการ 2 ลด 2 เพิ่ม รวมถึงการเตรียมนำเสนอมาตรการระยะกลางและระยาว โดยมองว่าถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งจะไม่ใช่เป็นเพียงแต่การเติมเงิน หรือเติมทุนเท่านั้น โดยจะต้องมีการพัฒนาผู้ประกอบการ สร้างความเชื่อมั่นให้กับเอสเอ็มอีในการทำธุรกิจต่อไปแบบยั่งยืน ซึ่งจะต้องมีการนำแนวความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัวเรื่องเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีพื้นที่ในการเจริญเติบโตทางธุรกิจได้
“ประเด็นดังกล่าวเหล่านี้ สมาพันธ์มองว่าจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เอสเอ็มอีได้มีโอกาสเติบโต โดยไม่ต้อง การแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ แต่ต้องการให้สามารถมีโอกาสในการมีส่วนแบ่งรายได้ในการเจริญเติบโตของจีดีพีของประเทศ”
นอกจากนี้ ภาครัฐควรจะต้องมีมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในเรื่องการลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ กับเอสเอ็มอีที่สามารถพัฒนาขีดความสามารถในเรื่องดังกล่าว ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเริมการส่งออก ด้วยการยกระดับขีดความสามารถของเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่บีโอไอจะส่งเสริมนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งอาจจะหันมาส่งเสริมเอสเอ็มอีในการที่จะพัฒนาเครื่องจักรอุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ โดยใช้กลไกล พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ ซึ่งมีเงินทุนอยู่ 1 หมื่นล้านบาท ในการเติมทุนความรู้ เติมเทคโนโลยี เครื่องจักรให้เอสเอ็มอีเติบโตในตลาดต่างประเทศได้ด้วยสินค้าและบริการ
นายแสงชัย กล่าวอีกว่า ภาครัฐต้องใช้กลไกการสื่อสารเชิงรุก เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการต่าง ๆ โดยการมีสายด่วนที่เป็นการให้บริการแบบจุดเดียวที่สามารถส่งต่อให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยปัจจุบันเอสเอ็มอียังเข้าถึงมาตรการภาครัฐได้น้อยมาก ดังนั้นควรให้เอสเอ็มอีสามารถมาลงทะเบียน เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดนจัดทำเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,673 วันที่ 25 - 28 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :