นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงกรณีที่ภาคประชาสังคมสอบถามความคืบหน้าการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาสำคัญที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ว่า สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับยาฟาวิพิราเวียร์หลักๆ แล้ว มีอยู่ 2 ฉบับ ฉบับแรก เกี่ยวกับโครงสร้างสารออกฤทธิ์หลักของยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งไม่เคยยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย ปัจจุบันหมดอายุความคุ้มครองในทุกประเทศทั่วโลกแล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ดังนั้น ผู้ผลิตยาจึงสามารถนำสูตรโครงสร้างของสารออกฤทธิ์หลักนี้ไปพัฒนาเป็นสูตรยาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ทันที
ส่วน ฉบับที่ 2 การขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ด ซึ่งได้ยื่นขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบการประดิษฐ์เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 และผู้ตรวจสอบได้พิจารณาแล้ว จึงมีหนังสือ แจ้งผลการตรวจสอบไปยังผู้ขอเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 โดยระบุว่า สิทธิบัตรดังกล่าวไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ซึ่งผู้ขอมีกรอบระยะเวลาในการชี้แจงถึงวันที่ 30 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ หากผู้ขอไม่ชี้แจงเข้ามาตามเวลาที่กำหนด จะถือว่าละทิ้งคำขอ ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ
ทั้งนี้ กองสิทธิบัตรยา กรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า มาตรา 27 ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรเป็นการให้สิทธิผู้ที่ยื่นคำขอในการชี้แจง เช่น กรณีที่บริษัทที่มายื่นขอจดสิทธิบัตรยาภายในเวลาที่กำหนด แต่หากเกินเวลา 30 วันตามม.27 เอกชนราชอื่นสามารถผลิตยาได้ ซึ่งในกรณียาฟาวิพิราเวียร์ ที่บริษัทญี่ปุ่นยื่นขอสิทธิบัตรมา ต้องรอให้ทางญี่ปุ่นยื่นชี้แจงก่อนซึ่งจะครบกำหนด 30 วันในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ หากเลยกำหนด เอกชนรายอื่นก็สามารถผลิตยาดังกล่าวได้
กรมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของยาฟาวิพิราเวียร์ที่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลในการจัดหายาให้เพียงพอต่อความจำเป็นอย่างทันท่วงที จึงได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคประชาสังคมตั้งแต่ปลายปี 2563 โดยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ได้ประชุมร่วมกับองค์การเภสัชกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมให้ยามีจำนวนที่เพียงพอหากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดขึ้นอีกครั้ง จึงได้เสนอแนวทางให้เจรจาเพื่อจัดซื้อยาเพิ่ม การขอร่วมลงทุนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค พร้อมทั้งเสนอตัวที่จะเข้าร่วมเป็นทีมเจรจาในครั้งนี้ อีกทั้งยังมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาตำรับยาขึ้นใหม่จากสารออกฤทธิ์หลักของยาฟาวิพิราเวียร์ที่ไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรในยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ด
“กรมฯ ตระหนักและคำนึงถึงสุขภาพและชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ ตามนโยบายรัฐบาล โดยการดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย และมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ”