ปิดฉากมหากาพย์ขายยางในสต๊อกรัฐบาล 3.7 แสนตัน ใน 2 โครงการ คือโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง (ปี 2555) และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง (บัพเฟอร์ฟันด์) (ปี2557) แบบวิบากมาราธอน เพราะกว่าจะขายได้ต้องฝ่าด่านหิน ทั้งศาลปกครอง เสียงด่าทอของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย รวมถึงผลกระทบต่อชาวสวนยาง จนท้ายสุดสต๊อกลดลงมาอยู่ที่ 1.04 แสนตัน ล่าสุดวันที่ 22 เมษายน 2564 การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ได้ประกาศผู้ชนะประมูล คือ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ชนะประมูลแบบเหมาล็อต โดยได้มีการเซ็นสัญญากับ กยท. พร้อมกับวางเงินมัดจำ 30% เป็นที่เรียบร้อยในวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา
ย้อนรอยสต๊อกยาง
จากราคายางพาราที่ตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อยกระดับราคายางพาราใน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง (รัฐบาลยิ่งลักษณ์) และ 2.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางหรือบัฟเฟอร์ฟันด์(รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) โดยซื้อปริมาณยางเข้าเก็บในสต๊อกรวม 3.7 แสนตัน มีหลายบริษัทเคยสนใจมาซื้อ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ มีอันต้องยกเลิกสัญญา อีกทั้งยังเป็นภาระของรัฐบาลต้องแบกสต๊อกและค่าเช่าโกดังเก็บมาจนถึงทุกวันนี้ แบบเรียกค่าเสียหายไม่ได้ เพราะทั้ง 2 บริษัทอยู่ต่างประเทศ
เริ่มจาก บริษัท ไชน่าไห่หนานรับเบอร์อินดัสทรี กรุ๊ป จำกัด (บจก.) จากจีนสนใจซื้อขายยางในทั้ง 2 โครงการของรัฐบาล ปริมาณยางรวม 4.08 แสนตัน(ณ ขณะนั้นไทยมียางในสต๊อกแค่ 2.08 ตัน แต่ในสัญญาต้องซื้อยางใหม่อีก 2 แสนตัน จึงทำให้องค์การสวนยาง (อสย.) ในขณะนั้นกว้านซื้อยางจากเกษตรกรป้อนให้กับ ไชน่าไห่หนานรับเบอร์ ซึ่งไห่หนานรับมอบยางไปเพียงกว่า 3 หมื่นตันเท่านั้น ทำให้เป็นที่มาของสต๊อก 3.7 แสนตัน
ถัดมาก็มาถึงคิวของเครือชิโนเคม ที่มีโครงการความร่วมมือรัฐบาลไทย-จีน ในโครงการความร่วมมือสร้างทางรถไฟ-จีน โดยจีนพร้อมที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ยางที่มีปริมาณรวม 2 แสนตัน บวกค่าพรีเมียมจากราคาตลาดอีก 3 หยวน งวดแรกรับยางไปไม่มีปัญญา 1.66 หมื่นตัน จากนั้นไทยมีการประกาศจะลงทุนรถไฟเองทั้งหมดจากเดิมที่จะกู้เงินจากรัฐบาลจีนทั้งหมดกว่า 5 แสนล้านบาท ทางจีนแจ้งชะลอการส่งมอบยาง จนต้องเลิกสัญญาไปโดยปริยาย (กราฟฟิกประกอบ) นอกนั้นจะเป็นการขายให้กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในประเทศ
ดัน "นอร์ทอีสฯ" ผงาด
อย่างไรก็ดีในการเปิดประมูลครั้งล่าสุด กยท.ได้พิจารณาและเทขายยางในสต๊อกทั้งหมดให้กับบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฯ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กำลังเตรียมที่จะรับมอบยางใน 2-3 วัน ให้แล้วเสร็จตามกำหนดเดือนพฤษภาคม ก่อนที่ผลผลิตใหม่จะออกสู่ตลาด อย่างไรก็ดีภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัทฯ มียอดขายสินค้ารวม 16,349.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,344.28 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 25.71% จากปี 2562 ที่มีรายได้จากการขายสินค้ารวม 13,005.50 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม 858.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 319.80 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 59.35% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่บริษัทมีกำไรจากยอดขายที่ 538.88 ล้านบาท สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้ 22,000 ล้านบาท โดยจะนำยางที่ประมูลได้จะนำไปผลิตเป็นยางแท่ง ซึ่งบริษัทได้กำหนดปริมาณการผลิตของปี 2564 ไว้ที่ 400,000 ตัน
ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การวางมัดจำ 30% ของปริมาณยางทั้งหมด โดยการวางมัดจำก้อนนี้จะนำไปตัดค่ายางสำหรับโกดังสุดท้าย ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (29 เม.ย.64) เป็นต้นไป บริษัทรับยางโกดังไหน จะต้องจ่ายค่ายางมูลค่าเต็มก่อนที่จะขนออกจากโกดัง แต่ถ้าเบี้ยวสัญญาก็จะฟ้องทันทีโทษฐานทำให้เสียหาย
นายสังข์เวิน ทวดห้อย กรรมการ กยท. กล่าวว่ายางก้อนนี้เป็นเป็นหอกข้างแคร่มาตลอด การระบายยกล็อตยอมเจ็บครั้งเดียว มั่นใจว่าจะทำให้อนาคตยางพาราไทยดีขึ้น ทั้งนี้ประเมินการขาดทุนจากที่ซื้อยางเข้ามาก่อนหน้านี้ จนถึงการระบายครั้งล่าสุดจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ถ้าแลกกับการทำให้ราคายางขยับขึ้นกิโลกรัม(กก.)ละ 1 บาท ปีหนึ่งไทยผลิตยางพารากว่า 4 ล้านตัน รายได้เข้ากระเป๋าพี่น้องชาวสวนยางเพิ่ม 4,000-5,000 ล้านบาทถือว่าคุ้ม
ขณะที่แหล่งข่าววงการค้ายาง กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ที่มีสต๊อกยางในมือถือว่าได้เฮถ้วนหน้า หลังรัฐบาลขายยางในสต๊อกออกไป ประกอบกับเวลานี้เป็นจังหวะที่ผลผลิตมีน้อย (หน้าแล้งปิดกรีด) ผู้ค้าแข่งรับซื้อ ราคายางพุ่ง หากเปิดกรีดยางทั่วประเทศเต็มร้อยในเดือนมิถุนายนนี้ ราคายางไม่น่าตก
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง