นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับไทย (รวมทองคำ) เป็นสินค้าส่งออกอยู่ในอันดับที่ 10 ซึ่งใน 2 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564) พบว่ามีมูลค่าส่งออกราว 3.07 หมื่นล้านบาท ลดลง 72% จากปีก่อนที่มีมูลค่าราว 1.12 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดีหากไม่รวมทองคำ จะมีมูลค่าส่งออกลดลงราว 27% โดยสาเหตุหลักมาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีการระบาดรอบใหม่และมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์กันอีกครั้งในหลายประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้สถาบันได้จัดโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy with Confidence) เป็นโครงการที่กระทรวงพาณิชย์และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการท่องเที่ยว โดยเป็นการสร้างมาตรฐานและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ผ่านใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับของสถาบัน (GIT Gem and Jewelry Identification)
รวมทั้งได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำเนินโครงการ “พัฒนาจังหวัดจันทบุรีเป็นนครอัญมณี” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนด้านอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี ให้สามารถแข่งขันได้และมีความสามารถเพียงพอต่อการขยายตลาดสู่สากล เช่น เทศกาลนานาชาติ “พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 - 6 ธันวาคม 2564 ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี, เคพี จิวเวลลี่เซ็นเตอร์, OTOP Lifestyle บริเวณตลาดพลอย ถนนศรีจันทร์
โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้ออัญมณี และยังเป็นเวทีสำหรับผู้ประกอบการในจังหวัดจันทบุรี ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค เปิดโอกาสให้ผู้ชมงานได้เลือกซื้อสินค้าคุณภาพดีในราคาผู้ผลิต คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ทั้งจากการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งจากการท่องเที่ยวส่งท้ายปลายปี และกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย
อย่างไรก็ดีพบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้เครื่องประดับของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป การนำเสนอแนวคิดในการออกแบบเครื่องประดับจึงเปลี่ยนไปด้วย โดยมุ่งเน้นการออกแบบเครื่องประดับเพื่อทุกคน (Design for all) โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับในปีนี้ จึงจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Intergeneration Jewelry”-jewelry for every generation เครื่องประดับที่ก้าวข้ามข้อจำกัดของเจนเนอเรชั่น การหลอมเป็นความคิดและประสบการณ์ของคนในแต่ละเจนเนอเรชั่น ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะนักออกแบบรุ่นใหม่ จะต้องนำแนวคิด ประสบการณ์ ความชื่นชอบเครื่องประดับของผู้คนในทุกช่วงอายุ มาหล่อหลอมรวมและรังสรรค์ออกมาเป็นเครื่องประดับแบบใหม่
เบื้องต้นสถาบันจะตัดสินรอบคัดเลือกแบบวาด และนำแบบวาดที่เข้ารอบสุดท้าย 4 แบบวาด มาผลิตเป็นเครื่องประดับจริงเพื่อนำไปตัดสินอีกครั้งและประกาศรางวัลผู้ชนะเลิศ พร้อมทั้งแสดงแฟชั่นโชว์ด้วยดารานางแบบชั้นนำ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน จากนั้นสถาบันจะนำผลงานการออกครั้งนี้ไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าต่างๆ อาทิ โชว์ในงานบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ และ งานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2021 เพื่อเป็นการตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกของประเทศไทย” (Thailand’s Gems and Jewelry Hub of The World)
ทั้งนี้ นักออกแบบจะต้องส่งแบบวาดไม่จำกัดเทคนิค หรือภาพเขียนจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ตรงกับหัวข้อ จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ชิ้นใน 1 ชุดหรือคอลเลคชั่น โดยในคอลเลคชั่นนั้นจะต้องมีสร้อยคอเป็นหลัก และเครื่องประดับอื่นๆ เช่น ต่างหู แหวน กำไล เป็นต้น ส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้-31 พ.ค. นี้
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :