นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเมษายน 2564 ว่า กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในรอบ 14 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปี 4 เดือน เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้เมื่อเทียบกับฐานราคาที่ต่ำมากในปีก่อน ประกอบกับมาตรการลดค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภคของรัฐสิ้นสุดลง รวมทั้งอาหารสดหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นตามผลผลิตที่ลดลง ขณะที่สินค้าและบริการอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
ทั้งนี้เงินเฟ้อในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 3.41% โดยมีสาเหตุสำคัญจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด36.38% (เทียบกับ1.35% ในเดือนก่อน) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานราคาน้ำมันที่ต่ำมากในปีก่อน และระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปีนี้ยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก ประกอบกับมาตรการลดค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาของรัฐได้สิ้นสุดลง
นอกจากนั้น สินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะ เนื้อสุกร ผักและผลไม้ ขยายตัวที่0.11% เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง สำหรับสินค้าในหมวดอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับผลผลิต การส่งเสริมการขายและความต้องการ
“เงินเฟ้อที่กลับมาขยายตัวในเดือนนี้ นอกจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันและการสิ้นสุดของมาตรการของรัฐดังกล่าวแล้ว ยังมีสัญญาณด้านสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่สนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชน และอุปสงค์ในตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัวตามลำดับ โดยด้านอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และมูลค่าการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ รถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์ ที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ขณะที่ด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง และอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งภาคการผลิต และภาคการบริโภค และเป็นประเด็นข้อกังวลที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ต่อเนื่อง ซึ่งต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดว่าจะสามารถควบคุมให้กลับมาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติได้เมื่อไหร่”
โดยสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนเมษายน 2564เดือนเมษายน 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 3.41 %(ตามการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 5.34% ได้แก่ หมวดเคหสถาน สูงขึ้น4.56 % เนื่องจากสิ้นสุดมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของภาครัฐ หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 10.21% (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.11 % (หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเท่ากันที่0.01 %(เครื่องถวายพระ เครื่องรับโทรทัศน์ เบียร์ ไวน์) ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.30%
สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.40% จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ 2.35%) กลุ่มผักสด 8.60% (ต้นหอม ผักชี ผักคะน้า) กลุ่มผลไม้สด 2.29% กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร 3.43 %กลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้น0.49 % และ 0.70% ตามลำดับ
สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 6.74% (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลง4.77% (ไข่สด นมถั่วเหลือง นมสด) และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง0.33% (น้ำดื่ม น้ำอัดลม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคม 2564อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพฤษภาคม 2564 มีแนวโน้มขยายตัวสูงต่อเนื่องจากเดือนเมษายน (หากไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพอื่นเพิ่มเติมจากรัฐ) โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และฐานราคาพลังงานที่ยังต่ำมากในปีก่อน ขณะที่สินค้าและบริการอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวตามผลผลิตและความต้องการ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐที่คาดว่าจะออกมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ ชดเชยอุปสงค์ที่ลดลงจากการท่องเที่ยวได้ ขณะที่การฟื้นตัวของโลกน่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรยังมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลต่อราคาอาหารสด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันยังคงเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศ ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่าง0.7 – 1.7 % (ค่ากลางอยู่ที่ +1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง