โอกาสในภาวะวิกฤติ ปรับกลยุทธ์ส่งออกไทย

08 พ.ค. 2564 | 06:34 น.

พาณิชย์ ชี้ โอกาสในภาวะวิกฤติ ปรับแผนกลยุทธ์หาออเดอร์จาก"เจรจาออนไลน์" สั่งวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคทุกตลาดเพื่อโอกาสของไทย

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากรายงานความเคลื่อนไหวตลาดต่างประเทศของสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ ว่า ระหว่างและหลังจากสถานการณ์ Covid-19 พฤติกรรมผู้บริโภคทุกประเทศเปลี่ยนไป ดังนั้น เพื่อวางแผนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละประเทศซึ่งเป็นเป้าหมายการส่งออกสินค้า เช่น โอกาสของผู้ที่ทำธุรกิจด้านความคิดสร้างสรรค์สามารถเติบโตได้ในไต้หวัน เนื่องจากผู้บริโภคชาวไต้หวันให้ความสำคัญกับคุณค่าและความคิดสร้างสรรค์ในการยกระดับตัวเองจากการเป็นผู้ผลิตแบบ ODM (Original Design Manufacturer)ที่มีบริการด้านการออกแบบและต่อยอดไปสู่ Original Brand Manufacturer ซึ่งเป็นการพัฒนาสู่การทำแปลงของตนเอง

โอกาสในภาวะวิกฤติ  ปรับกลยุทธ์ส่งออกไทย

ประเทศฟิลิปปินส์ จะเป็นตลาดและโอกาสของเทรนด์ธุรกิจออนไลน์เนื่องจากมีการตั้งธุรกิจใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากและมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพของฟิลิปปินส์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงสามารถที่จะเข้าร่วมทำการค้าและสร้างโอกาสเจาะตลาดได้ นอกจากนี้เทรนด์ของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินปัจจุบันยอมจ่ายเพื่อแลกกับความสะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้นการขยายตลาดในช่องทางเดิมจะลำบาก

 สำหรับประเทศอินเดียแม้จะเจอภาวะวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างหนัก แต่ผู้บริโภคซึ่งเป็นประชากรกลุ่มชนชั้นกลางในอินเดียกว่า 55% กำลังขยายตัวทำให้เติบโตทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ประชากรโดยเฉลี่ยมีอายุน้อยกว่าประเทศใหญ่อย่างจีนและสหรัฐอเมริกาและคาดการณ์กันว่าชนชั้นกลางอินเดียจะมีจำนวนมากที่สุดในโลกภายในปี 2568 และอินเดียมีขนาดประเทศใหญ่ประชากรกว่า 1.38 พันล้านคนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน โอกาสนี้จะเป็นของผู้ประกอบการด้านสินค้าและบริการ เพราะตรงกับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลอินเดีย เป็นต้น

สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา กลุ่มคนเอเชียน-อเมริกัน เป็นพลังซื้อลูกใหม่ที่น่าจับตามองโดยข้อมูลสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2543-2562 อเมริกันเชื้อสายเอเชียเติบโตเร็วมากโดย56% อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก เท็กซัส นิวเจอร์ซี และรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งรายงานของสถาบัน  Pew Research Center ระบุว่ากำลังซื้อผู้บริโภคเอเชียน-อเมริกันล่าสุดรวม 17.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คือเพิ่มขึ้นเกือบ 100% เมื่อเทียบกับปี 2542 และจะเพิ่มขึ้นอีก โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศประจำนครชิคาโก ระบุว่าเป็นโอกาสของสินค้าไทยในการบุกตลาดนี้โดยเฉพาะประเภทอาหาร เช่น ข้าวหอมมะลิ น้ำปลา บะหมี่สำเร็จรูป และสินค้าที่เข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตตามเทรนด์ เป็นต้น

ส่วนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จะเป็นโอกาสเกี่ยวกับการส่งออกพัสดุจากไทย เช่น ชิปบอร์ด พลาสติก และชิ้นส่วนจักรยานยนต์เพราะมีดัชนีที่วัดการผลิตของที่นั่นว่ามีความต้องการเพิ่ม ที่ประเทศอิตาลี เยอรมนี เดนมาร์ก อียิปต์ ก็จะเป็นโอกาสของสินค้าทางเลือกแนวใหม่ New normall ปลาทูน่ากระป๋อง cargo-bike กลุ่มผู้บริโภค Gen Z เช่นสินค้าอาหาร สินค้าบำรุงผิว สินค้าเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์ตกแต่งบ้านและสินค้าที่มีใบรับรองมาตรฐานสากล เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีตลาดอื่นทั้งตลาดเดิม ตลาดเก่า ตลาดใหม่ ที่กระทรวงพาณิชย์ได้สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเปิดโอกาสให้กับการส่งออกของไทยท่ามกลางภาวะวิกฤติโรคระบาดและปรับแผนกลยุทธ์เพื่อโอกาสหลังวิกฤติ โดยจะได้รายงานให้ผู้ประกอบการและประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องต่อไปสำหรับในทุกตลาด และหลักใหญ่ใจความสำคัญคือการปรับตัวใช้เครื่องมือทางการสื่อสารและการค้าโดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีและการเจรจาออนไลน์ โดยกระทรวงพาณิชย์ปัจจุบันทำงานเป็นทีมโดยปรับวิธีเน้นการเจรจาออนไลน์และจัด Online Business Matching ประชาชนและผู้ประกอบการทุกระดับสามารถติดตามทางเว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ได้ตลอดเวลาเพื่อติดตามความคืบหน้าหรือการลงทะเบียนเข้าร่วมทุกโอกาส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐกิจสหรัฐฯโต ส่งออกไทยกระเตื้อง ฉุดภาคอุตฯฟื้นชีพ

พาณิชย์มองข้ามช็อต มั่นใจส่งออกครึ่งหลังพุ่งแรง 

ส่งออกมี.ค.พลิกบวก 8.47% ดันไตรมาสแรกโต2.27%

สรท.ห่วงโควิดรอบใหม่ ฉุดส่งออกไทยปี64

‘จีน-สหรัฐ-อียู’ฟื้น ส่งออกไทยโงหัว