เปิดตัว 17 ชีวภัณฑ์ ความหวังใหม่ เกษตรกร ใช้แทนสารเคมี

08 พ.ค. 2564 | 07:30 น.

กระทรวงเกษตรฯ เปิดชื่อ 17 สารชีวภัณฑ์ ใช้ทดแทนสารเคมี ชงปลดล็อก ก่อนชงบอร์ดฯ วัตถุอันตราย ไฟเขียว ด้านตลาดสารเคมีคึก ชี้ฝนมาเร็วเอื้อเพาะปลูก สมาคมพืชสวนฯ แฉรง.ปุ๋ยเคมีดอดขึ้นราคา 1,500-2,000 บาทต่อตัน

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงนำสารเคมีมาใช้เพื่อป้อง กันกำจัดศัตรูพืชจำนวนมาก ก่อให้เกิดสารตกค้างในพืช  และเป็นอันตรายต่อตัวเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวและมอบนโยบายให้กรมวิชาการเร่งดำเนินการให้เกษตรกรลด ละ เลิก การใช้สารเคมีโดยปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรที่ปลอดภัย  และเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและของกระทรวง เกษตรฯนั้น

 

พิเชษฐ์  วิริยะพาหะ

 

นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ  อธิบดี กรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การใช้สารชีวภัณฑ์ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเป็นแนวทางสำคัญที่ตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าว เพราะสามารถนำมาใช้ทดแทนสารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้  กรมวิชาการเกษตร  จึงได้เสนอกระทรวงฯ เพื่อออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “การขึ้นทะเบียนการออกใบสำคัญและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ กรมวิชาการเกษตร  รับผิดชอบ (ฉบับที่ 2)” โดยประกาศฉบับดังกล่าวจะปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาการขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์  ผลิตภัณฑ์จากพืช และสารฟีโรโมน  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรได้นำสารชีวภัณฑ์มาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมีให้
มากขึ้น

 

“สารชีวภัณฑ์” ผลิตภัณฑ์จากพืช และสารฟีโรโมน ที่มีข้อมูลทางวิชาการว่ามีความปลอดภัยต่อมนุษย์ พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตามรายชื่อที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งข้อมูลพิษวิทยามาประกอบการขึ้นทะเบียนมีจำนวนทั้งสิ้น 17 ชนิด  โดยเป็นชีวภัณฑ์ที่อยู่ในประกาศเดิม 5 ชนิดและเพิ่มในร่างประกาศใหม่อีก 12 ชนิด  ได้แก่ 1. บาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis) ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น โรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย โรคแคงเคอร์, โรคใบจุด, โรคเน่าเละ, โรคแอนแทรคโนส, โรคใบจุด, โรคไหม้ข้าว, โรครากเน่าโคนเน่า, โรครากปมที่เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม   และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช

 

2. บาซิลลัส อะไมโลลิคเฟเชียน (Bacillus amyloliquefaciens)   ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium, Pythium, Rhizoctonia, Phytophthora, Verticillium, Botrytis cinerea, and Alternaria, โรคราแป้ง, โรคแอนแทรคโนส, โรคราน้ำค้าง, โรคไหม้ข้าว  และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช 3. บาซิลลัส ไลเคนิฟอร์มิส (Bacillus licheniformis) ควบคุมโรคเน่าสีน้ำตาลในพีท  ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา Botrytis cinerea (gray mold), ควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคทางใบของชาน้ำมัน  และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช 

 

4. บิซิลลัส พูมิลัส (Bacillus pumilus) ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช อุตสาหกรรมการผลิตทางการเกษตร, อุตสาหกรรมการหมักอาหาร, การบำบัดน้ำเสีย 5. บิวเวอร์เรีย บัสเซียน่า (Beauveria bassiana) เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลงศัตรูพืชโดยครอบคลุมเข้าทำลายแมลงหลายชนิด ซึ่งเป็นแมลงจำพวกตระกูลเพลี้ย เช่น เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่นเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยอ่อนส้ม เพลี้ยไก่แจ้ รวมถึง บั่ว ที่ทำลายช่อและยอดกล้วยไม้ (ค่อนข้างดื้อยาฆ่าแมลง)หนอนทุกชนิด และแมลงที่เป็นศัตรูพืชเช่น มอดเจาะผลกาแฟ ไรแดง ไรขาว แมลงหวี่ขาว ด้วง แมลงวัน และยุง 

 

6. เมทาไรเซียม แอนิโซเพลีย (Metarhizium anisopliae) ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชจำพวกปากกัดและปากดูด เช่น ไรแดงแอฟริกัน เพลี้ยจักจั่นสีเขียว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หนอนด้วง และหนอนของผีเสื้อศัตรูพืชหลายชนิด ตลอดจนแมลงปากกัดบางจำพวก เช่น ด้วงกออ้อย ด้วงหมัดผัก  ตั๊กแตน หนอนด้วงเจาะลำต้น ด้วงแรด แมลงดำหนาม หนอนหัวดำในมะพร้าว มอดเจาะผลกาแฟ ฯลฯ สามารถใช้ผสมน้ำฉีดพ่นพืชผัก ไม้ผลและไม้ดอก ไม้ประดับทุกชนิด และทุกระยะการเจริญเติบโต

 

7.  ไตรโคเดอร์มา แอสเพอเรลลัม (Trichoderma asperellum) ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม พิเที่ยม  ไรซอคโทเนีย  ไฟทอปทอร่า 8.  ไตรโคเดอร์มา ฮาร์เซียนั่ม (Trichoderma harzianum)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม  พิเที่ยม ไรซอคโทเนีย  ไฟทอปทอร่า สเคลอโรเที่ยม  มาโครโฟมิน่า และ โบไทรทิส  และโรคทางใบเช่น ใบจุดที่เกิดจากเชื้อรา โบไทรทิส  และโรคราน้ำค้าง 

 

9. ไตรโคเดอร์มา แกมซิไอ (Trichoderma gamsii)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม พิเที่ยม ไรซอคโทเนีย  ไฟทอปทอร่า  และ สเคลอโรเที่ยม 10. ไตรโคเดอร์มา วิริดี้ (Trichoderma viride)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม  พิเที่ยม  ไรซอคโทเนีย  ไฟทอปทอร่า  สเคลอโรเที่ยม  มาโครโฟมิน่า  และ โบไทรทิส  และโรคทางใบเช่น ใบจุดที่เกิดจากเชื้อรา โบไทรทิส  และ อัลเทอร์นาเรีย โรคราน้ำค้าง และราแป้ง

 

11. ไตรโคเดอร์มา ไวเรน (Trichoderma virens)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม  พิเที่ยม  ไรซอคโทเนีย  และโรคทางใบที่เกิดจากเชื้อราอัลเทอร์นาเรีย 12. ไตรโคเดอร์มา อะโทรวิริดี้ (Trichoderma atroviride)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม  และไรซอคโทเนีย 13. บาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส หรือ เชื้อบีที  สายพันธุ์ ไอซาไว จุลินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืช ได้แก่ กลุ่มหนอนผีเสื้อ เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนหนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะเสมอฝ้าย หนอนคืบกระหล่ำ หนอนคืบละหุง หนอนร่านกินใบปาล์ม หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

 

14. บาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส จุลินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืช ได้แก่ กลุ่มหนอนผีเสื้อ เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนหนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะเสมอฝ้าย หนอนคืบกระหล่ำ หนอนคืบละหุง หนอนร่านกินใบปาล์ม หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด 15. ไวรัส เอ็นพีวี  (NPV) จุลินทรีย์ชนิดไวรัสใช้สำหรับควบคุมแมลงได้ หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะเสมอฝ้าย 16. ไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง  ไส้เดือนฝอยชนิดกำจัดแมลงได้แก่ ด้วงหมัดผัก ด้วงมันงวงมันเทศ หนอนกินเปลือกลองกอง หนอนผีเสื้อกินก้อนเห็ด หนอนกระทู้หอม 17. โปรโตซัว ชนิด Sarcocystis singaporensisโปรโตซัว  ใช้กำจัดหนู

 

 

 

 

 

 

ขณะนี้ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ขั้นตอนในลำดับถัดไปกรมวิชาการเกษตรจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะลงนามในประกาศเพื่อลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป  ซึ่งการปลดล็อกขั้นตอนและระยะเวลาการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้จะส่งผลให้การขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น และจะทำให้เกษตรกรได้ใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อนำไปใช้กำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมีเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก 

จารึก ศรีพุทธชาติ

 

นายจารึก ศรีพุทธชาติ นายก สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นต้นฤดูการเพาะปลูก ปริมาณฝนเริ่มมากขึ้น การใช้สารเคมีสารเคมีกำจัดวัชพืชเริ่มมากขึ้น อาทิ ข้าว มันสำปะหลังและข้าวโพด เป็นต้น ประเมินสถานการณ์ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว เพราะปีนี้ฝนมาเร็ว ขณะที่ปีที่แล้วภัยแล้งลากยาว 

 

สมศักดิ์ สมานวงศ์

 

สอดคล้องกับ นายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่า เกษตรกรเริ่มเตรียมแปลงและเริ่มมีการเพาะปลูก ทำให้มีความต้องการและเริ่มซื้อหาปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับปีนี้ทางกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณน้ำฝนจะดี จะเป็นโอกาสที่เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่ประเทศต้องมีความมั่นคงด้านอาหารถือเป็นโอกาสของเกษตรกร 

 

พงษ์เทพ อันตะริกานนท์

ขณะที่นายพงษ์เทพ อันตะริกานนท์ นายกสมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพไทย กล่าวว่า หลังจากที่ภาครัฐสั่งแบน 2 สารเคมี (พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส) ธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพประสบปัญหาในการขายได้ลดลง บวกกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สินค้าเกษตรราคาตก เกษตรกรไม่มีเงินลงทุน แม้ฝนฟ้าจะอำนวยก็ตาม 

 

อนันต์ ดาโลดม

 

ด้านนายอานันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากมีสายเกษตรอินทรีย์มาบอกให้เลิกใช้สารเคมี และปุ๋ยเคมี ก็จะบอกให้ทราบว่า ราคามูล วัว ควาย สุกร ไก่ ที่นำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ปรับขึ้นราคากว่า 20% เช่นเดียวกับโรงงานปุ๋ยเคมีประกาศขึ้นไปแล้ว โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้ ปรับราคาขึ้น 1,500-2,000 บาทต่อตัน อ้างโรงงานต้นทางปิด มีขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์นำเข้า สวนทางกับราคาผลผลิตตกต่ำเกือบทุกชนิด (ยกเว้นพืชที่รัฐบาลประกันราคา) ถ้ารัฐบาลไม่สนใจเท่ากับซ้ำเติมเกษตรกร 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,677 วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 

 

หน้าเกี่ยวข้อง