ดร.กฤษกร สุขเวชชวรกิจ ประธานหลักสูตรการจัดการธุรกิจสุขภาพ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า อุตสาหกรรมสุขภาพกำลังเติบโตทั่วโลก ประกอบกับประเทศไทยมีจุดแข็งด้าน Service โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism จากข้อมูลของ BOI ระบุว่า ตลาดนี้ในไทยมีมูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มีอัตราการเติบโตปีละกว่า 10%
อีกทั้งโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้คนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ในขณะที่ “เทรนด์สังคมสูงวัย” ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างชัดเจนในปีนี้ที่ประชากรไทยอายุเกิน 60 ปี มีมากกว่า 20% และในอีก 10 ปีข้างหน้า จะกลายเป็น Hyper-Aged Society หรือมีผู้สูงวัยมากกว่า 28% จัดอยู่ในประเภทเดียวกับญี่ปุ่น ทว่าอัตราเกื้อหนุนของประเทศไทยน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ย้อนไปเมื่อปีพ.ศ. 2537 อัตราเกื้อหนุนอยู่ที่ 9:1 กล่าวคือผู้สูงอายุ 1 คนมีลูกหลานหรือผู้ดูแลถึง 9 คน
แต่ในปีพ.ศ. 2573 สัดส่วนนี้จะลดลงเหลือเพียง 2:1 การขาดแคลนคนดูแลผู้สูงวัยจะเข้าขั้นวิกฤติในไม่ช้านี้ แต่ข่าวดีคือโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทแทนแรงงานมนุษย์ในหลายด้าน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าอุตสาหกรรมสุขภาพจะนำมาปรับใช้ได้ทันหรือไม่
“ในช่วงเวลา 10 ปีจากนี้ ต้องมองว่านี่ไม่ใช่แค่โอกาส แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะถ้าประเทศไทยไม่เร่งพัฒนาบุคลากรและธุรกิจสุขภาพช่วง 10 ปีนี้ เราอาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ต้องนำเข้าสินค้ามูลค่าสูงจนขาดดุลการค้า และที่สำคัญที่สุดคือการดูแลสุขภาพประชาชนจะกลายเป็นวิกฤติ แต่หากเราพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ผลักดันเมืองไทยเป็น Medical Hub ระดับโลกอย่างที่วาดฝันไว้ ภาคการศึกษาก็ต้องเร่งปั้นผู้ประกอบการตั้งแต่วันนี้”
ทั้งนี้ ทางวิทยาลัยฯ ได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทใหม่ล่าสุด ในสาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ: Healthcare Business Management (HRM) ที่นำองค์วามรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอันเป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัยมหิดล ดังที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอยู่คู่ประเทศไทยมายาวนาน 132 ปี มาผสมผสานกับองค์ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจในยุคดิจิทัล สนับสนุนให้ประเทศไทยเร่งสร้างสินค้าและบริการรองรับโอกาสและความท้าทายด้านสุขภาพจากเมกะเทรนด์ 3 ด้าน จะสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจสุขภาพยุคใหม่
เริ่มด้วยวิชาพื้นฐานการจัดการธุรกิจ เช่น ไฟแนนซ์ การตลาด การบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นต้น ต่อด้วยจุดแข็งของสาขานี้คือการเจาะลึกด้าน Healthcare Management เช่น วิชา Logistics & Supply Chain Management for Healthcare Business ซึ่งมีความซับซ้อนอย่างมาก โดยเฉพาะการขนส่งเวชภัณฑ์หรือยา หากเกิดข้อผิดพลาดต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าวัตถุดิบหรือจุดบกพร่องมาจากจุดไหน เพราะเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ
ในขณะที่วิชา Ethics, Quality and Risk Management ก็มีสำคัญในระดับสูงกว่าธุรกิจปกติทั่วไป เนื่องด้วยความเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ หลักสูตรฯ ได้มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมล้ำสมัยมาใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล ไม่ว่าจะเป็น AI, Big Data Analytics, Telemedicine หรือ Edge Computing โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาจริง จากความร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงาน อาทิ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และโรงพยาบาลเอกชนอีกหลายแห่ง
หลักสูตรนี้ออกแบบมาสำหรับผู้ประกอบการในทุกระดับตั้งแต่สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี หรือผู้บริหารที่อยู่ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพทั้งหมด ไม่จำกัดเพียงแค่ธุรกิจโรงพยาบาล รวมไปถึงด้านอสังหาริมทรัพย์ อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ ให้ผู้ประกอบการได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจเดิม และเห็นโอกาสในธุรกิจใหม่ สามารถสร้างแผนธุรกิจออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกัน นักวิจัยโดยเฉพาะผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีองค์ความรู้พร้อม และต้องการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ยิ่งเป็นโอกาสดีในการมาร่วมสร้างเครือข่ายตั้งแต่ในชั้นเรียน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง แตกไลน์อสังหาฯ สู่ธุรกิจสุขภาพ 'ศิริอรุณ เวลเนส'