SMEs ส่งออกขอรัฐเร่งคืน VAT เสริมสภาพคล่องฝ่าวิกฤติโควิด-19

11 พ.ค. 2564 | 03:20 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2564 | 10:23 น.

สสว. เผย SMEs ส่งออกขอรัฐเร่งคืน VAT เสริมสภาพคล่องฝ่าวิกฤติโควิด-19 เตรียมนำข้อเสนอหารือกระทรวงการคลังพร้อมหาแนวทางผ่อนปรนเงื่อนไข

นายวีระพงศ์  มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) กลุ่มธุรกิจด้านการส่งออกพบว่า ปัญหาสำคัญที่ผู้ประกอบการประสบในเวลานี้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) คือ ภาระต้นทุนที่สูงและการขาดสภาพคล่อง แต่มีหนทางหนึ่งที่สามารถดำเนินการบรรเทาปัญหาได้ทันทีโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ คือ การพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับผู้ประกอบการส่งออกที่ได้มีการยื่นเรื่องขอคืนภาษีไว้ให้รวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลของ สสว. พบว่า ในรอบปี 63 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านการส่งออก มีจำนวนทั้งสิ้น 22,285 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) จำนวน 3,460 ราย ผู้ประกอบการขนาดย่อมจำนวน (Small) 11,516 ราย และผู้ประกอบการขนาดกลาง (Medium) จำนวน 7,309 ราย สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 839,750 ล้านบาท ซึ่งหดตัวลงในอัตรา 17.08% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและการแพร่ระบาดของไวรัส COVID 19 ที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

สำหรับทางออกสำคัญที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มส่งออก เสนอขอให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ประกอบด้วย 2 เรื่องหลัก ได้แก่

1.ขอให้เร่งดำเนินการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่งออก ได้ยื่นขอคืนภาษีค้างไว้เป็นระยะเวลานาน โดยใช้เกณฑ์และวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกันในทุกพื้นที่ พร้อมกับมีกลไกในการแจ้งให้ผู้ประกอบการได้ทราบสถานะการตรวจสอบเพื่อจะได้จัดเตรียมข้อมูลเอกสารนำส่งได้อย่างถูกต้องรวดเร็วยิ่งขึ้น

2.ประชาสัมพันธ์ ปรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการสมัครเป็นผู้ประกอบการส่งออกขึ้นทะเบียน และผู้ประกอบการส่งออกที่ดี ให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มโอกาสในการขอคืนภาษีได้เร็วขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว จะได้รับสิทธิประโยชน์ในมาตรการคืน VAT ได้ภายใน 15 วัน แต่เพราะเงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ยังเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก เช่น

ต้องมีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ผลประกอบการจะต้องไม่ขาดทุนติดต่อกันเกิน 2 ปี ต้องมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ดังนั้น หากผ่อนปรนเงื่อนไข หลักเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถพัฒนาตัวเองให้เข้าเงื่อนไขได้ไม่ยาก

​อย่างไรก็ดี สสว. เห็นว่า การที่ผู้ประกอบการได้รับเงินภาษี VAT คืนล่าช้าเกินกว่า 90 วัน ตามระยะเวลาปกติ อาจจะมีผลมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจในการจัดเตรียมเอกสาร รวมถึงวิธีปฏิบัติเพื่อให้สามารถได้รับเงินคืนภาษีได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงได้เตรียมนำข้อเรียกร้องดังกล่าวของผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มส่งออก เสนอกระทรวงการคลังเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรค การพัฒนาองค์ความรู้ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงแนวปฏิบัติให้กับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเตรียมการ และพัฒนาผู้ประกอบการ ให้เป็นผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ในมาตรการคืนภาษีดังกล่าวอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :