นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ เดินหน้าหาโอกาสส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ ถึงโอกาสในการขยายตลาดสินค้าสำหรับทารกของไทยเข้าสู่ประเทศอินเดีย เพราะเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูง แม้จะเป็นช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าจำเป็นและจำนวนทารกแรกเกิดไม่ได้มีจำนวนลดลง ทำให้มีความต้องการใช้สินค้าสำหรับทารก เด็กเล็ก ตั้งแต่อาหาร ขวดนม ภาชนะ เสื้อผ้าและรองเท้า น้ำยาซักผ้าแบบอ่อน และอุปกรณ์ทำความสะอาด จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย ที่จะศึกษาและวางแผนในการขยายตลาดส่งออกไปยังอินเดียได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มีข้อมูลจาก Data Bridge Market Research คาดว่าในปี 2570 ตลาดของสินค้าสำหรับเด็กทารก เด็กอ่อน จะมีมูลค่ารวมถึง 5,407 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีการแข่งขันที่เข้มข้นจากผู้ผลิตภายในประเทศที่ก้าวเข้ามาในตลาด ซึ่งเดิมมีผู้ผลิตต่างชาติครองตลาดอยู่ อาทิ Nestle , Procter & Gamble , Hindustan Unilever และ Johnson and Johnson โดยผู้ประกอบการจากต่างชาติจะเน้นสินค้าที่มีคุณภาพและพยายามสื่อสารเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและค่านิยมที่จะซื้อสินค้าที่มีความสะอาด ปลอดภัย ไม่เกิดการระคายเคืองต่อให้แก่ลูกน้อยเนื่องจากใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ แม้ว่าอาจมีราคาแพงกว่าก็ตาม
ขณะเดียวกัน ได้มีการประเมินว่าตลาดสินค้าสำหรับทารกจะขยายตัวได้อีกมาก หากมีการส่งเสริมผ่านช่องทางออนไลน์ โดยพบว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ยอดขายในส่วนของผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กทารก เด็กเล็กเพิ่มขึ้นถึง 60% จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว (เม.ย.62-มี.ค.63) ส่วนใหญ่ผู้ซื้อสินค้ามักเป็นคนทำงานที่มีรายได้ปานกลางและอาศัยอยู่ในเมืองหลักอย่าง Pune , Bhopal , Amritsar , Dehradun , Patna , Kochi and Delhi เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกักตุนสินค้าจำเป็นในช่วงล็อกดาวน์ โดยสินค้าที่กำลังได้รับความสนใจ ได้แก่ เบาะที่นอนและผ้าห่ม กระดาษชำระ กระดาษเปียก มุ้งสำหรับเด็ก และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ เครื่องนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อโรค (Electric Sterilizer) และเครื่องวัด/ติดตามสุขภาพเด็กทารก รวมถึงเฟอร์นิเจอร์และของเล่นสำหรับเด็กอ่อน
ด้าน น.ส.สุพัตรา แสวงศรี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ กล่าวว่า แม้ว่าอัตราการเกิดของคนอินเดียจะลดลงเล็กน้อย แต่โครงสร้างประชากรของอินเดียสะท้อนว่ายังมีทารกเกิดขึ้นใหม่อีกประมาณปีละอย่างน้อย 20 ล้านคน โดยสินค้าสำหรับทารกถือเป็นสินค้าจำเป็นและต้องเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานและความปลอดภัยด้วย ในขณะที่อินเดียกำลังพยายามลดการพึ่งพาการนำเข้าจากจีน จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะเข้ามาเป็นทางเลือกในตลาดหากมีราคาที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับแข่งขันอย่างจีน เวียดนาม และบังกลาเทศ
สำหรับช่องทางการขายผ่านตลาดกลางออนไลน์ พบว่ามี MyBabyCart.com จะเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในการซื้อ-ขายสินค้า โดยมีผู้ประกอบการผู้หญิงจำนวนมากนำสินค้ามาวางขาย นอกเหนือจากแพลตฟอร์มตลาดกลางทั่วไป อาทิ Amazon, Flipkart, Snapdeal และ Browntape โดยพบว่าผลิตภัณฑ์ดูแลเด็ก/ทารกเป็นกลุ่มสินค้าที่มีอัตราขยายตัวรองจากเสื้อผ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับแพลตฟอร์ม ตลาดออนไลน์รายเล็กที่มีอยู่ในตลาดอินเดีย ได้แก่ BabysJoy.com, LittleShop.in, NewBabyClothes.com, Hoopos.com และ Bonsaii.in
ส่วนโอกาสของสินค้าไทย พบว่า มีศักยภาพในตลาดระดับบน ได้แก่ สินค้าแฟชั่น อาทิ เสื้อผ้าและรองเท้า ภาชนะบรรจุอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า และของเล่นที่เน้นความปลอดภัย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษารูปแบบ ลักษณะหีบห่อ และราคาจากเว็บไซต์ของผู้ผลิตและตลาดออนไลน์ดังกล่าวข้างต้น เพื่อวางแผนการผลิตให้มีความแตกต่างและมีราคาที่แข่งขันได้ ส่วนผู้ประกอบการที่มีความพร้อมควรพิจารณาออกไปลงทุนทำธุรกิจร้านค้าปลีกแบบแบรนด์เดียวในอินเดียเพื่อจำหน่ายสินค้าทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งขยายสาขาด้วยกลไกแบบแฟรนไชส์ไปสู่เมืองรองที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นช่องทางการแนะนำและสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าใหม่ รวมทั้งลดจำนวนผู้ค้าในห่วงโซ่มูลค่าซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมราคาให้ไม่สูงเกินไปด้วย รวมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับการบุกตลาดอินเดีย เมื่อสถานการณ์โควิด -19 คลี่คลายเพราะมีช่องว่างทางการตลาดที่สินค้าไทยสามารถไปเจาะตลาดอินเดียต่อไป