บิ๊กยาง เร่งซอฟต์โลน 4 หมื่นล้าน เพิ่มสภาพคล่องดันราคาพุ่ง

24 พ.ค. 2564 | 06:55 น.

เปิดกรีดยางพาราเดือด สมาคมยางพาราไทย ชง กยท. เร่งซอฟต์โลน 4 หมื่นล้านเพิ่มสภาพคล่อง คาดช่วยซื้อได้อีกไม่ต่ำ 6-7 แสนตัน 3 บิ๊กส่งออกฟันธงราคายางดี ยาวถึงสิ้นปี

กองวิจัยเศรษฐกิจการยาง ฝ่ายเศรษฐกิจการยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประเมินเดือนพฤษภาคม 2564 ที่เป็นช่วงเริ่มเปิดกรีดยาง ปริมาณยางยังคงมีน้อย จากจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นร้อยละ 40-60% ของพื้นเป็นอุปสรรคต่อการกรีด ขณะที่ยางพาราของไทยมีการเปิดตลาดเพิ่มในเอเชียกลาง ซึ่งแม้ว่าจะมีปัจจัยกดดันจากสต๊อกยางในจีนยังมีมาก (กราฟิกประกอบ) แต่คาดราคายางในเดือนพฤษภาคม 2564 มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

วรเทพ วงศาสุทธิกุล

 

นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล อุปนายก สมาคมยางพาราไทย ประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา สมาคมร่วมประชุมกับ กยท. และผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องเงินกู้ซอฟต์โลน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในการซื้อยาง เพื่อดันราคายางในประเทศให้สูงขึ้น เบื้องต้นทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ให้ความเห็นมาว่าควรใช้งบตาม พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท

“ผมบอกว่า ทาง สศค.ตอบมาเข้าใจคนละเรื่อง เพราะการที่สมาคมขอไปเรื่องซอฟต์โลน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการนำไปซื้อผลผลิตจากของเกษตรกร เพราะตอนนี้ราคายางแพงขึ้น แต่มีเงินเท่าเดิม ทำให้ซื้อของได้น้อยลง เงินไม่พอ แบงก์ไม่ปล่อยกู้เพิ่ม  แต่ สศค.จะให้ไปใช้เงินสินเชื่อจาก พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงินได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการแต่ละรายใช้เงินเกิน 500 ล้านบาท มองแล้วสมาชิกสมาคมไม่เข้าเงื่อนไข ที่สำคัญธุรกิจยางพาราก็ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากนัก แค่ยางปรับราคาขึ้นเงินไม่พอซื้อ ธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ นี่คือปัญหา”

 

นายวรเทพ กล่าวอีกว่า ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ดี ลูกค้าที่ซื้อยางไปมีการขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ทำให้แต่ละบริษัทมีลูกหนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นจะต้องมีสภาพคล่องมากกว่านี้ รัฐบาลต้องเร่งอนุมัติให้เร็วที่สุด เพราะหากราคายางปรับขึ้นไป 80-100 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ผู้ประกอบการไม่มีเงินซื้อจะทำอย่างไร สุดท้ายราคายางอาจปรับตัวลงมา ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันพยุงราคายางให้ขึ้นต่อไปให้ได้ จากเวลานี้แนวโน้มราคายางปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง (ราคาน้ำยางสด ณ โรงงาน (19 พ.ค.64) อยู่ที่ 64 บาทต่อกก. และยางแผ่นดิบ ท้องถิ่น 64.56 บาทต่อกก.) จากเศรษฐกิจโลกฟื้น จีนกลับมาใช้ยางมากขึ้น ถุงมือยางยังขายดีต่อเนื่อง หนุนให้ราคาและความต้องการยางเพิ่มขึ้น

 

 

ปริมาณสต๊อกยางจีน

บัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต

 

ด้าน นายบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต เลขาธิการ สมาคมยางพาราไทย และประธานกรรมการบริหาร  บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด กล่าวว่า ราคายางมีแนวโน้มสูงขึ้น หากมีเงินจะช่วยซื้อยางจากเกษตรกรได้มากขึ้น แต่จากสถานการณ์โควิด ทำให้ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น การที่จะไปขอวงเงินเพิ่มยากขึ้น จึงเป็นที่มาขอให้ภาครัฐได้ช่วยเหลือในเรื่องสินเชื่อซอฟต์โลน 

 

กรกฎ กิติพล

 

นายกรกฎ กิตติพล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตลาดต่างประเทศ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากได้ซอฟต์โลนเข้ามาช่วยซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกร คาดจะช่วยเพิ่มส่งออกยางพาราให้กับประเทศได้อีกไม่ต่ำกว่า 6-7 แสนตัน โดยคำนวณจากราคายางแผ่น 60 บาทต่อกก. เชื่อว่าราคายางไม่น่าต่ำกว่านี้ 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,681 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง