นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.2564 มีมูลค่า 21,429.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.09% เป็นการขยายตัวเติบโตสูงสุดในรอบ 36 เดือน นับจากเม.ย.2561 การนำเข้ามีมูลค่า 21,246.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.79% เกินดุลการค้ามูลค่า 182.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนภาพรวมการส่งออก 4 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 85,577.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.78% ซึ่งเติบโตเกินไปกว่าเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 4%การนำเข้ามีมูลค่า 84,879.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.85% เกินดุลการค้ามูลค่า 698.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับสินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ผักและผลไม้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง สินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิต เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า และสินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ)
ตลาดส่งออก ขยายตัวสูงเกือบทุกตลาด และหลายตลาดขยายตัวในระดับสูง สอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตและการค้าโลก รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามความคืบหน้าในการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศคู่ค้า และแรงสนับสนุนจากการใช้นโยบายการเงินและการคลังที่ต่อเนื่องของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยตลาดหลักเพิ่ม 15.8% ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เพิ่ม 9% , 2.7% และ 52.5% ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 18.8% เช่น จีน เพิ่ม 21.9% เอเชียใต้ เพิ่ม 149.9% และ CLMV เพิ่ม 44.3% แต่อาเซียน 5 ประเทศ ลด 4.4% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 47.8% เช่น ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 39.1% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 82.3% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 25.3% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS เพิ่ม 50.1% และตะวันออกกลาง เพิ่ม 65.7%
สำหรับ แนวโน้มการส่งออกของไทยคาดว่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเกือบทุกหมวดสินค้า การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวตามราคาส่งออก และความต้องการจากประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น แผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่มีความหลากหลาย เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นด้านการผลิตและการบริโภค และกระทรวงพาณิชย์ยังมีกิจกรรมสนับสนุนการส่งอออก เช่น การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายออนไลน์ การเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก และการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสินค้าของไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง