นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ประสบปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ กลุ่มการค้าปลีกและบริการ หอการค้าไทย จึงได้เร่งดำเนินงานทันที ตามนโยบาย Connect the Dots ที่มีเป้าหมายให้ธุรกิจรายใหญ่ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็ก (โครงการพี่ช่วยน้อง)
ด้านนายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการบริหาร และประธานกลุ่มการค้าปลีกและบริการ หอการค้าไทย กล่าวว่าการรวมพลังเครือข่ายสร้าง Digital Factoring Platform ซึ่งมีฐานข้อมูลการทำธุรกิจของคู่ค้าและซัพพลายเออร์ เพื่อเชื่อมโยงกับสถาบันการเงิน ช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว และทำให้เอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกมากขึ้น นับเป็นภารกิจที่ 2 จาก 3 ภารกิจ 99 วัน ของกลุ่มการค้าปลีกและบริการที่สามารถทำได้สำเร็จและเกิดขึ้นจริงโดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มแรกจำนวน 1,000 ราย ได้รับอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ในวงเงินรวมกว่า 5,000 ล้านบาท และจะเริ่มทยอยโอนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) ให้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยร่วมกัน
ทั้งนี้ Digital Factoring Platform เป็นแพลตฟอร์ม ภายใต้โครงการแซนด์บ็อกซ์ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เซ็นทรัล รีเทล (CRC) และ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) โดยการนำข้อมูลการทำธุรกิจของซัพพลายเออร์และคู่ค้าเบื้องต้นกว่า 4,000 ราย ของ เซ็นทรัล รีเทล เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทย แพลตฟอร์มนี้ทำให้ธนาคารฯ สามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพบนต้นทุนและความเสี่ยงที่ต่ำ และยังอำนวยความสะดวกให้ SMEs สามารถชำระหนี้ผ่านช่องทางดิจิทัลด้วยการหักผ่านบัญชีรายรับที่ได้จากผู้ประกอบการค้าปลีก ซึ่งถือว่าเป็นแพลตฟอร์มฯ ที่ทำให้ซัพพลายเออร์และคู่ค้าได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถสร้างแต้มต่อให้ SME ไทยอย่างแท้จริง
ด้านนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การร่วมมือกันระหว่างธนาคารกสิกรไทยกับเซ็นทรัล รีเทล เราสามารถช่วยเหลือ SMEs ในการให้สินเชื่อซอฟต์โลนและได้รับอนุมัติสินเชื่อกลุ่มแรกกว่า 5,000 ล้านบาท ให้กับ SMEs กว่า 1,000 ราย ซึ่งกว่า 70% ของ SMEs และกลุ่มนี้ยังไม่เคยเข้าถึงซอฟต์โลนมาก่อน โดยได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเต็มวงเงิน และกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรก มีระยะเวลาผ่อนชําระสูงสุด 7 ปี และสามารถพักชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน และยังได้รับยกเว้นชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก นับตั้งแต่วันเบิกเงินกู้งวดแรก นอกจากนี้จะมีการขยายผลโครงการแซนด์บ็อกซ์ไปยังธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารออมสิน ซึ่งถือเป็นหลักชัยสำคัญที่จะเปิดทางไปสู่การขยายผลความสำเร็จเพื่อช่วยเหลือ SMEs ไทยอย่างต่อเนื่อง
“หอการค้าไทยมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดนี้ เราลงมือทำทันทีและทำให้เกิดขึ้นได้จริง ภายในระยะเวลาอันสั้น ผมมั่นใจว่าจะมีผู้ประกอบการ SMEsได้รับอนุมัติสินเชื่อซอฟท์โลนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภารกิจ 99 วัน ตามนโยบาย Connect the Dots ของหอการค้าไทย ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ไทย และหลังจากนี้ จะนำแซนด์บ็อกซ์ต้นแบบนี้ ขยายผลไปยังสมาชิกของหอการค้าฯ ทุกจังหวัด และธนาคารพาณิชย์ของรัฐและเอกชน เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 500,000 ราย ครอบคลุมทั่วประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
SMEs เฮ! ค้าปลีกผนึกแบงก์ ปล่อยกู้ซอฟต์โลนกว่า 5,000 ล้าน