ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิได้เฮ

29 พ.ค. 2564 | 11:38 น.

บอร์ดสุนทร สานฝัน ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ได้เฮ จะยกระดับเท่าบัตรสีเขียว สูงสุดได้สิทธิปลูกแทนไร่ละ 1.6 หมื่นบาท

สุนทร รักษ์รงค์

 

นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) และในฐานที่ปรึกษาคณะทำงานศึกษาหาแนวทางในการรับรองการเป็นเกษตรกร ชาวสวนยางของเกษตรกรที่แจ้งข้อมูลการปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย(บัตรสีชมพู) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะทำงานฯ นี้ แต่งตั้งโดย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีคำว่าเกษตรกรชาวสวนยางที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน โดยมีนายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านปฏิบัติการ เป็นประธานคณะทำงาน

 

 

“บัตรสีชมพู” เรียกว่าตั้งแต่รวมตัวกันเป็น “ประเทศไทยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ อย่าว่าแต่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย กลายเป็นผู้ร้าย โดยเฉพาะกลุ่มพี่น้องชาวสวนยาง ที่กล่าวหาว่าบุกรุก มาสู่ยุคนี้ ต้องยกเครดิตให้ท่าน เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  อย่าง โครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นโครงการของรัฐบาล ไม่ใช่ของ กยท. เป็นงบประมาณของรัฐบาล ได้รับการจัดสรร ซึ่งไม่มีเคยมาก่อน เป็นครั้งแรก!

 

มาถึงการ ”เยียวยาโควิด” เดือนละ 5,000 บาท รายละ 15,000 บาท เดิมจะมีแค่ พืช สัตว์ ประมง ท้ายที่สุด ก็สามารถผลักดันให้ มีมติครม. เพิ่มขึ้นมา ก็ทำให้พี่น้องชาวสวนยางได้รับอานิสงส์ไปด้วย เมื่อเทียบกับพืชอื่นๆ มีสมุดเล่มเขียว (ทะเบียนเกษตรกร) กรมส่งเสริมการเกษตร จะได้แค่หัวหน้าครัวเรือน แต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ของ กยท.จะได้จำนวนเป็นราย หากในครอบครัวได้ขึ้นทะเบียน กยท. ทั้ง 5 คน ทั้งบัตรเขียวและสีชมพู ก็คือจะได้ทั้งหมด 5 คนเลย ซึ่งเป็นที่อิจฉาของพืชอื่น ตอนนั้นจำได้ว่าพี่น้องบัตรสีชมพูดีใจมาก คนกรีดยางก็ได้ 15,000 บาท เช่นเดียวกับเจ้าของสวนยางก็ได้ 15,000 บาท

 

นายสุนทร กล่าวว่า สิ่งที่คณะทำ บวกกับอุดมการณ์ที่สู้มาโดยตลอด  ก็คือ การยกระดับบัตรสีชมพูเป็นบัตรสีเขียว เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องยกเครดิตเอ็นจีโอ และกลุ่มของผม ที่ต่อสู้มาโดยตลอดกว่า 10 ปี  คณะทำงานต้องศึกษารายละเอียดข้อมูลของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ

 

เช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มติคณะรัฐมนตรี เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองตามกฎหมาย หนังสืออนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐทุกกรมในแต่ละกระทรวง หนังสือแสดงสิทธิการทำประโยชน์ที่ดินของรัฐ ตามมติ ครม.26 พ.ย.2561 และมีเอกสารประกอบอื่นอีกมายมาย เช่น มติ คทช. พระราชกฤษฎีกา ฯลฯ


 

ประชุม ยกระดับบัตรสีชมพู ทำได้จริง

 

นายสุนทร กล่าวว่า ตาม มติ ครม. วันที่ 26 พ.ย.2561  ได้เห็นชอบพื้นที่ป่าไม้และมีมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท ที่อยู่มาก่อนมติคณะรัฐมนตรี สรุปง่าย คนต้องทำการเกษตรภายในวันที่  17 มิถุนายน 2557 ถ้าหลังจากนี้ก็คือ ก็คือ “คนที่บุกรุกใหม่” ระหว่างที่ประชุม มีอ่านทุกตัวอักษร ถกเถียง แลกเปลี่ยน ทุกคำนิยาม แม้กระทั่งการเว้นวรรค และ/หรือ

 

สรุปจบก็คือตาม มติ ครม. วันที่ 26 พ.ย.2561  คุ้มครองพี่น้องที่อยู่ในป่า พื้นที่ทับซ้อน โดยเฉพาะบัตรสีชมพู กยท. 1. ป่าไม้/อุทยานไม่มีสิทธิจับ 2 วันนี้ไม่ใช่ความผิดของพี่น้องในเขตทับซ้อน แสดงว่าจะต้องอยู่ตามเงื่อนไข ตามมติครม. แล้วต่อไปทางรัฐออกสิทธิให้ครอบครอง ให้ทำกินได้ ตามเงื่อนไข 20 ปี แต่สิทธิการขึ้นทะเบียนขาวสวนยาง กยท. เป็นกฎหมาย กยท.

 

จะต้องใช้มติ ครม.ดังกล่าวนี้ มาอ้างอิง ประกอบกับประกันรายได้เกษตรกร และเยียวยาโควิด รัฐบาลก็จ่าย ดังนั้นในบัตรสีชมพู จ่ายเงินเซสส์ ภาษียางทุกต้น ทำไมถึงจะไม่ได้รับความคุ้มครอง บัตรสีชมพูจะต้องได้รับสิทธิ จะต้องได้ประกันอุบัติเหตุ สามารถเข้าถึง กองทุนพัฒนายางพารา ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 49  ได้และสูงสุดจะต้องได้เงินการสนับสนุนปลูกทดแทน ไร่ละ 16,000 บาท นี่คือสิ่งที่คณะตั้งใจทำ

 

“ไม่ดราม่า ไม่มีเบี้ยประชุม ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ นอกจากค่าเดินทาง ใครบอกว่าคณะทำงาน กยท.ทำงานไม่คุ้มเงินเซสส์ของพี่น้องชาวสวนยาง คิดผิดคิดใหม่ได้นะ ช่วยให้กำลังใจผู้ก่อการดีด้วย ถามมาเยอะ ยกระดับบัตรสีชมพูเป็นบัตรสีเขียวแล้วจะได้สิทธิอะไร  พรุ่งนี้มีคำตอบ วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 น. พบ รายการสุนทรพบชาวสวนยาง ครั้งที่ 27  เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายล้วนๆ "