นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ คือ รัสเซีย อาร์เมเนีย เบลารุส คาซัคสถาน และคีร์กีซสถาน ได้มีมติทบทวน และเพิกถอนประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.64 เป็นต้นไป เพราะไทยไม่เข้าเกณฑ์การได้รับสิทธิ์ เนื่องจากปัจจุบัน ธนาคารโลก ได้จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน จากเกณฑ์ที่กำหนดคือ ประเทศที่จะได้รับจีเอสพี ต้องไม่เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน หรือกลุ่มรายได้สูง ตามการจัดอันดับของธนาคารโลก
โดยมติดังกล่าว ทำให้นับตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.64 เป็นต้นไป ไทยจะไม่ได้รับสิทธิจีเอสพีจาก ยูเรเซียอีกต่อไป และหากจะส่งออกสินค้าไปยังยูเรเซีย จะต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (เอ็มเอฟเอ็น) จากในช่วงที่ได้รับจีเอสพี สินค้าที่ส่งออกจากไทยเสียภาษีนำเข้าต่ำเพียง 75% ของอัตราภาษีปกติ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าไทยสูงขึ้น และเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง ที่ไม่ถูกตัดสิทธินั้น
แม้ว่ายูเรเซียจะตัดสิทธิจีเอสพีประเทศไทย แต่ไทยยังสามารถส่งออกสินค้าไปยูเรเซียได้อยู่ เพียงแต่ต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ จากการที่ได้รับสิทธิ เสียภาษีในอัตราต่ำ และม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยูเรเซียมากนัก เพราะแต่ละปี ไทยส่งออกไปยูเรเซียน้อย อย่างไรก็ตาม กรมจะหารือกับผู้ส่งออกไทย ในการเตรียมความพร้อมรองรับการถูกตัดสิทธิ หาแนวทางลดผลกระทบ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย
สำหรับการทบทวนดังกล่าว เป็นการปรับปรุงรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิจีเอสพี ซึ่งจะทำในทุกๆ 3 ปี และจากการปรับปรุงในครั้งนี้ ทำให้เหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีจากยูเรเซีย อยู่เพียง 29 ประเทศ จากก่อนหน้านี้ที่มี 103 ประเทศ และเหลือประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ที่ยังคงได้รับสิทธิจีเอสพี 48 ประเทศ จาก 50 ประเทศ โดยประเทศที่ถูกตัดสิทธิเช่นเดียวกับไทย เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ไทยยังคงได้รับสิทธิจีเอสพี คือ สหรัฐฯ, สวิตเซอร์แลนด์, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช, และนอร์เวย์ โดยในแต่ละปี ไทยใช้สิทธิส่งออกสินค้าไปรัสเซียประมาณ 100 กว่าล้านดอลลาร์ ซึ่งปี 63 ไทยใช้สิทธิเพียง มี 133.92 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.81% จากปี 62 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 81.23% ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ
ส่วนในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. ปี 64 มูลค่าการใช้สิทธิ 19.79 ล้านดอลลาร์ ลดลง 20.18% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 67.62% สินค้าที่ใช้สิทธิส่งออก เช่น สับปะรดกระป๋อง, ผลไม้และลูกนัต, เนื้อปลาแบบฟิลเลสด แช่เย็น แช่แข็ง, มะนาว, ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส เป็นต้น