รัฐประหารในเมียนมา ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นับถึงวันนี้ (1 มิ.ย.) ครบ 4 เดือนแล้ว ซึ่งปัจจุบันเหตุการณ์ยังยืดเยื้อ และยังมีการประท้วงของประชาชนที่เห็นต่าง ทำ ภาคธุรกิจหยุดชะงัก ขณะที่พัฒนาการของเหตุการณ์ในเวลานี้มีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่ากองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force) จับอาวุธขึ้นสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทหารตามเมืองต่างๆ จุดชนวนความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนทั้งของผู้ประกอบการของเมียนมาเอง รวมถึงผู้ประกอบการต่างชาติในเมียนมา
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากผลสำรวจของหอการค้าในต่างประเทศและออกรายงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า ผลพวงจากเหตุการณ์ในเวลานี้คือ บริษัทของเมียนมาได้หยุดดำเนินงานแล้วสัดส่วน 83% ญี่ปุ่น 68% ชาติตะวันตก 67% และอาเซียน 65% โดยไม่ได้ระบุว่าในส่วนของอาเซียนมีบริษัทไทยหยุดดำเนินงานแล้วกี่ราย
“การหยุดดำเนินงานในครั้งนี้มาจากหลายเหตุผล ที่สำคัญคือ จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน คนทำงานก็ไม่มี บรรยากาศของการทำธุรกิจ และการลงทุนเป็นไปอย่างเงียบเหงา มีกองกำลังประชาชนติดอาวุธสู้กับรัฐบาล มีวางระเบิดในหลายเมือง ทั้งหมดถือเป็นคลื่นใต้นํ้าที่รอปะทุรอบใหม่ ทำให้เวลานี้ภาคการผลิตจำนวนมากต้องหยุดกิจการ จากเกรงไม่ปลอดภัยกับคนงานและโรงงาน ส่วนที่ยังเปิดก็ใช้กำลังผลิตไม่เต็มร้อย เพราะส่วนใหญ่พึ่งพาตลาดในเมียนมาเป็นหลัก”
ที่ผ่านมามี ธุรกิจของต่างชาติ ที่ประกาศ ย้ายหรือถอนการลงทุนจากเมียนมา แล้ว เช่น นักธุรกิจสิงคโปร์ถอนการลงทุนในบริษัทยาสูบ บริษัท KIRIN ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่จากญี่ปุ่น,บริษัท PoscoCoated & Color Steel จากเกาหลีใต้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จากผลการศึกษาของ ม.หอการค้าไทยหากต่างชาติจะย้ายฐานออกจากเมียนมาพบว่า ประเทศที่จะได้รับอานิสงส์มากที่สุดตามลำดับ คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา ไทย มาเลเซีย และสปป.ลาว
ตัวอย่างอุตสาหกรรมผลิตสินค้า และประเทศจุดหมายปลายทาง ที่ต่างชาติเล็งย้ายฐานการลงทุนมา (จากมากไปหาน้อย) ได้แก่
สิ่งทอและเสื้อผ้า : เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา
รองเท้า: เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา
รถยนต์: อินโดนีเซีย เวียดนาม
ผลิตภัณฑ์ต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (โดรน): มาเลเซีย ไทย
แปรรูปเนื้อสัตว์: ไทย เวียดนาม
ข้าว ผลไม้: เวียดนาม ไทย กัมพูชา
โรงแรม รีสอร์ทขนาดเล็ก: เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา
เครื่องดื่ม (เบียร์): เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว
ม.หอการค้าไทยได้ศึกษา ผลกระทบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)ในเมียนมา ออกเป็น 3 กรณี
"เพราะแค่โครงการนิคมฯ อมตะโครงการเดียวมีมูลค่าลงทุนถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ แต่ตอนนี้ต้องชะลอออกไปก่อน จากเดิมหากไม่มีปัญหาทางการเมือง คาด FDI ในเมียนมาปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 8,811 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2.66 แสนล้านบาท” ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว
ด้านนายกริช อึ้งวิฑูร สถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า เวลานี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยในเมียนมา เช่น กลุ่ม ปตท.สผ. กลุ่มเอสซีจี เครือซีพี ยังเดินหน้าธุรกิจต่อซึ่งกลุ่มนี้ไม่น่าห่วง แต่ที่น่าห่วงคือผุ้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สายป่านไม่ยาว เริ่มขาดสภาพคล่อง
“เมื่อเร็ว ๆนี้ทางสภาธุรกิจไทย-เมียนมาได้จัดสัมมนาออนไลน์เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจอยู่ในเมียนมา ผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้ากับเมียนมา และผู้ประกอบการค้าชายแดนไทย-เมียนมา มีคนเข้าฟังกว่า 100 ราย แต่มีคนยื่นกู้กับเอ็กซิมแบงก์เพียง 20 กว่าราย จากการสอบพบว่าเขายังมีความกังวลหากยื่นขอไปแล้วจะไม่ได้รับการพิจารณา ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเอ็กซิมแบงก์จะให้วงเงินต่อรายถึง 30 ล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี เพียง 3 เปอร์เซ็นต์กว่าเท่านั้น ซึ่งผมจะจัดสัมมนาเพื่อโปรโมตเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 24 มิ.ย.นี้” นายกริช กล่าว
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,684 วันที่ 3 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง