“กุลยา ตันติเตมิท” ชี้หน่วยงานรัฐ ต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

27 ธ.ค. 2567 | 04:42 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2567 | 04:58 น.

เปิดมุมมอง “กุลยา ตันติเตมิท” อธิบดีหญิงคนที่สาม “กรมสรรพสามิต” ฉายภาพขับเคลื่อนองค์กร เน้นสิ่งแวดล้อม สร้างเศรษฐกิจโตยั่งยืน รักษาสมดุลจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ ยึดหลักการ “ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก”

“สรรพสามิต” 1 ใน 3 กรมภาษีที่มีบทบาทสำคัญในสร้างรายได้ให้รัฐ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ล่าสุดได้แม่ทัพหญิง "กุลยา ตันติเตมิท” มากุมบังเหียน ถือเป็นแม่ทัพหญิงคนที่ 3 จากก่อนหน้านั้นที่มีนางสิรินุช พิศลยบุตร เป็นอธิบดีหญิงคนแรก ตามด้วยนางเบญจา หลุยส์เจริญ เป็นอธิบดีหญิงคนที่สอง 

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต

“กุลยา ตันติเตมิท” บอกเล่าถึงเส้นทางการทำงานในรั้วกระทรวงการคลังจากอดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) อธิบดี กรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสรรพากร และล่าสุดได้รับการโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรม สรรพสามิต

นางสาวกุลยา จบปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับทุนรัฐบาลสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อศึกษาต่อเศรษฐศาสตร์ ปริญญาโท และปริญญาเอก ตามความต้องการของ สศค. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง

“จุดเริ่มต้นของเส้นทางรับราชการมาจากครอบครัว ที่พ่อกับแม่รับราชการมาก่อน ซึ่งหลังเรียนจบได้กลับมาใช้ทุนที่สศค. โดยเริ่มทำงานด้านเศรษฐกิจ จนก้าวหน้าเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ช่วงปี 2554”

กุลยา”เล่าว่า การทำงานที่สศค.ถือว่า ได้รับโอกาสที่ดี เพราะสศค. เป็นทั้งนโยบายที่เห็นในภาพกว้าง และหลักการต่างๆ และเมื่อย้ายมาไปกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นเรื่องใช้จ่าย ก็จะมีเรื่องกฎระเบียบในการใช้จ่ายและขั้นตอน เป็นเรื่องกฎหมาย เป็นงานอีกด้านหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ และเมื่อขยับไปกรมจัดเก็บรายได้ เริ่มจากกรมสรรพากร และปัจจุบันโยกย้ายมาที่กรมสรรพสามิต

“ข้อดีในการทำงานหลายๆกรม คือ เราจะเห็นภาพรวมของกระทรวงการคลังได้หลายด้าน เมื่อมาอยู่ในกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต ก็จะรู้เรื่องการจัดเก็บภาษี อยู่ที่กรมบัญชีกลางก็จะรู้ขั้นตอนปฏิบัติ การควบคุมหน่วยงานของเราให้เป็นไปตามระเบียบ"

ทั้ฃนี้ ข้อดีของผู้บริหารที่ได้เห็นงานหลายๆ ด้าน เมื่อมีการวางนโยบายสำหรับเศรษฐกิจและการคลังของประเทศในภาพรวม ก็จะเห็นได้ชัดเจนและวางนโยบายต่างๆได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

สำหรับกรมสรรพสามิตจะวางกลยุทธ์และมอบนโยบายให้ส่วนราชการขับเคลื่อนองค์กร เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตามที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีคนก่อนได้ให้ความสำคัญ  เพราะมองว่า เป็นสิ่งสำคัญและกรมสรรพสามิตมาถูกทางแล้ว

“กุลยา ตันติเตมิท” ชี้หน่วยงานรัฐ ต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

ส่วนที่จะเน้นต่อมาคือ เรื่องเสริมสร้างความยั่งยืนภาษีสรรพสามิต ได้แก่ การสนับสนุนฐานภาษีที่ยั่งยืน หมายถึง การทำให้เศรษฐกิจ และสังคมมีความยั่งยืนต่อไปได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน ภาษีตัวใหม่ ดูเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษ หรือสิ่งที่เป็นโทษต่อสุขภาพและสังคม ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินที่ได้มาควบคู่ไปกับทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนั้น จะดูวิธีการใช้ภาษีสรรพสามิตอย่างไร เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ สร้างความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยสอดคล้องกับเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า แต่ต้องดูว่า ส่วนไหนที่เลือกแล้วเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ และสร้างความยั่งยืน ต้องดูอัตราภาษีของเราที่จะมาช่วยการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในระยะยาวด้วย

ส่วนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของสรรพสามิตมองว่า ปีนี้ยังเป็นปีที่ท้ายทาย เพราะต้องดูความสมดุลระหว่างเม็ดเงินที่จะจัดเก็บได้ กับนโยบายที่ต้องสนับสนุน เช่น การสนับสนุนรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็อาจต้องปรับลดภาษีเพื่อดึงดูด ฉะนั้น จะต้องมีเม็ดเงินที่ลดลงไปบ้าง 

นอกจากนั้น ยังจะดูเรื่องการดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในฐานภาษีมากยิ่งขึ้น โดยจะนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกไม่เป็นภาระให้กับผู้เสียภาษี เพื่อให้เขาปฏิบัติตามกฎหมายอย่างสมัครใจ ให้มาเข้าระบบ อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตเดินหน้าเรื่องเทคโนโลยีไปเยอะแล้ว คล้ายคลึงกับสรรพากร เช่น การบูรณาการจัดเก็บข้อมูล นำแชทบอร์ด และเอไอมาใช้

ขณะที่เรื่องของเถื่อน การหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตนั้น นโยบายที่จะเดินหน้าต่อไป จะเน้นเรื่องความโปร่งใส และการกำกับดูแลที่ดีของกรมโดยเน้นเชิงรุก ทั้งการปราบปราม การหลบเลี่ยงภาษีที่ผิดกฎหมาย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

สำหรับการเป็นอธิบดีหญิงนั้น นางสาวกุลยาระบุว่า ข้อจำกัดการเป็นผู้บริหารหญิงในประเทศไทยปัจจุบันไม่ค่อยจะมีแล้ว หรือหากมีก็ส่วนน้อยมาก โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ถือเป็นกระทรวงที่เปิดกว้าง หากมีบุคลากรที่มีคุณภาพ หรือใครมีความสามารถ ก็สามารถที่จะมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและจะก้าวสู่การเป็นผู้บริหารหญิงได้

ขณะที่ปรัชญาที่ยึดมั่นมาโดยตลอดคือ จะต้องมีหลักการและหลักการที่สำคัญคือ “ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก” เพราะอยู่ในส่วนราชการและยังอยู่ในส่วนการวางนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ เมื่อออกนโยบายบางเรื่องไป บางครั้งจะไม่ได้มีแต่คนได้ ก็จะมีบางคนที่ได้รับผลกระทบ ฉะนั้น ปรัชญาในการทำงานก็คือ ประโยชน์ของส่วนรวมได้มากที่สุดเป็นสำคัญ ประโยชน์ส่วนตัวไม่มี

“กุลยา ตันติเตมิท” ชี้หน่วยงานรัฐ ต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

ดังนั้นสิ่งที่คิดว่า การที่ทำงานมาถึงจุดที่เป็นผู้บริหารได้คือ การมีลำดับความสำคัญของงานได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะ set priority งาน เป็น 4 ข้อคือ

  1. งานสำคัญและเร่งด่วน ซึ่งจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
  2. งานสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน
  3. งานไม่สำคัญแต่เร่งด่วน
  4. งานไม่สำคัญไม่เร่งด่วน ซึ่งอันนี้จะวางไว้ท้ายๆ

“สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญกับองค์กรคือ สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ อาจจะเป็นช่วงระยะปานกลาง ระยะยาว หากละเลยส่วนนั้น เมื่อถึงจุดที่ต้องต้องทำ และไม่ทำก็จะมีผลกระทบ ฉะนั้น จึงเป็นการจัด priority ของงานที่ถือว่ามีความสำคัญ เป็นเรื่องที่ผู้บริหารแต่ละองค์กรต้องมี”

ดังนั้น ถ้าให้คำนิยามของการทำงาน มองว่า “ถ้าเรามีหลักการ เราจะมุ่งไปสู่การเป็นเป้าหมาย” โดยเราทำงานบนหลักการ แต่ยืดหยุ่นได้ หมายความว่า ถ้ากฎระเบียบกฎหมายล้าสมัย ใช้ไม่ได้แล้ว หรือไม่อำนวยความสะดวกต่างๆ แล้ว ก็ต้องแก้ไข คือ ต้องไปสร้างความยืดหยุ่นส่วนนั้น แต่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่

ภายใต้การทำงานเหล่านี้ จึงอยากเห็นประเทศไทยที่เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน แต่การที่เติบโตอย่างยั่งยืน คงไม่เน้นเฉพาะเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ส่วนนี้จะเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน

“เราอยากให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน และทุกภาคส่วนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันที่วางเอาไว้”นางสาวกุลยากล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,056 วันที่ 26 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2567