ดัน‘โค-เปย์’อุ้มSME ส.อ.ท.ชงปันเงินกู้ 5 แสนล้าน ช่วยจ่ายค่าจ้างคนละครึ่ง 6-9เดือน

09 มิ.ย. 2564 | 04:10 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2564 | 05:34 น.

ส.อ.ท.วอนรัฐปันเงินกู้ก้อน 5 แสนล้านช่วยจ่ายค่าจ้างคนละครึ่งให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ต่อลมหายใจ-รักษาสภาพการจ้างงาน รอฉีดวัคซีนตามเป้าหมายกลับมาฟื้นฟูกิจการ คาดใช้เงิน 5 หมื่นล้านบาท

รัฐบาล เตรียมเสนอ ร่างพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้าน เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (9 มิ.ย.) โดยเงิน 5 แสนล้านบาทดังกล่าว รัฐบาลได้วางกรอบการใช้เงินออกเป็น การแก้ปัญการระบาด 3 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือเยียวยา-ชดเชย 3 แสนล้านบาท และ ฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม 1.7 แสนล้านบาท

เงินกู้ก้อนใหม่ 5 แสนล้านบาทนี้ รัฐบาลมอบหมายให้สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาเช่นเดิมทั้งการเยียวยาและการฟื้นฟู ซึ่ง1ในแผนของสภาพัฒน์ในการเยียวยานั้นจะมีการหยิบยกแผนร่วมจ่ายค่าจ้างกับธุรกิจขนาดกลาง-ย่อม (SMEs) ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของภาคเอกชนที่ต้องการให้รัฐเยียวยาเอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุด เพื่อให้รักษาสภาพการจ้างงานและดำเนินธุรกิจต่อไปได้  

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 9 มิ.ย.2564 ที่ประชุมคาดจะมีการหยิบยกหารือในประเด็นแนวทางรัฐร่วมจ่ายเงินค่าจ้าง/เงินเดือน(Co-payment) ให้กับพนักงานบริษัทเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

“เบื้องต้นอยากให้รัฐช่วยแบ่งเบาภาระ สำหรับบริษัทที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ไม่ใช่ทุกบริษัท ซึ่งอยากให้ภาครัฐมีนโยบายและหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การนำเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ 3 แสนล้านบาท จะนำมาใช้ในการช่วยเหลือเยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด อยากเสนอให้ภาครัฐนำก้อนนี้มาใช้เยียวยาโดยร่วมจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานของบริษัทเอกชนที่ได้รับผลกระทบ เพราะเวลานี้ผู้ประกอบการไม่อยากเป็นหนี้เพิ่ม ส่วนการไปขอกู้เงินจากธนาคารก็กู้ยากมาก

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

ส.อ.ท.ขอช่วยจ่าย 50%

“เรื่องนี้คาดจะได้มีการนำหารือในที่ประชุม กกร.เพราะเป็นหนึ่งในมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้เอสเอ็มอียืนหยัดได้ และรักษาการจ้างงานไว้ได้ เพราะเห็นว่าคงดีกว่าไม่ได้ทำอะไร ส่วนรัฐจะช่วยจ่ายกี่เปอร์เซ็นต์นั้น ถ้าถามเอกชนยิ่งมากยิ่งดี แต่ท้ายที่สุดคงช่วยได้เต็มที่ไม่เกิน 50% ซึ่งจะจ่ายกี่เดือนนั้น มองว่า ถ้าช่วยเพียง 2-3 เดือนคงช่วยได้ไม่มาก เพราะเป็นการช่วยพยุงช่วงสั้น ๆ”

ขณะที่เวลานี้รัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนแล้วในการฉีดวัคซีนอย่างเร็วที่สุดให้แล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ ซึ่งจากนี้ไปอีก 6 เดือนที่อยู่ระหว่างการฉีดวัคซีนที่ทุกคนไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นรัฐคงต้องช่วยจ่ายอย่างน้อย 6 เดือนหรืออย่างน้อยถึงสิ้นปีตามแผนของการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย (100 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 70%) 

อย่างไรก็ดีหากแผนฉีดวัคซีนไม่ได้ตามเป้า และอาจจะล่วงเลยไปถึงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า รัฐก็คงต้องช่วยจ่ายไปถึงไตรมาสแรกปีหน้า หรือ 9 เดือน ซึ่งทุกอย่างจะล้อไปกับแผนการฉีดวัคซีน จนกว่าสถานการณ์จะค่อย ๆ คลี่คลาย คนกล้าออกมาใช้ชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจถึงจะเริ่มกระเตื้อง

เอสเอ็มอีเจ็บหนัก

"อย่างไรก็ตาม ยังไม่เงื่อนไข รายละเอียดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนออกมา ถ้าถามว่าช่วยแบบไหนดีที่สุด รัฐช่วยจ่ายแทนเลยดีที่สุด เพราะตอนนี้รายรับของเอสเอ็มอีในหลายอาชีพ ในหลายอุตสาหกรรมลดมากกว่า 50% บางคนลดลงถึง 70-80% โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรมที่บางแห่งต้องปิดกิจการเลย บางรายรายได้เป็น 0% หรือบางรายมีรายได้น้อยมากเหลือแค่ 5-10% ซึ่งอย่างน้อยการชดเชย(ค่าจ้าง/เงินเดือน) 50% ก็ได้ แต่ถ้านับตามอุตสาหกรรมที่เสียหายมากก็ควรจะช่วย 100% เพราะมีหลายอุตสาหกรรมที่ไม่มีรายได้เลย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาคบริการ ท่องเที่ยว หรือเอสเอ็มอีทั้งหลาย”


ดัน‘โค-เปย์’อุ้มSME  ส.อ.ท.ชงปันเงินกู้ 5 แสนล้าน ช่วยจ่ายค่าจ้างคนละครึ่ง 6-9เดือน

คาดใช้เงิน5หมื่นล้าน

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือครั้งนี้จะใช้เงินเท่าไรนั้น สามารถคำนวณได้ตามเกณฑ์ว่าถ้าช่วย 50% 70% 75% หรือ 100% รัฐต้องจ่ายเท่าไร โดยคำนวณจากผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือและระยะเวลาในการช่วยเหลือ และจะช่วยเหลือในแต่ละอุตสาหกรรม หรือภาคธุรกิจตามความรุนแรงที่ได้รับผลกระทบตามที่จะได้ตกลงกัน โดยเฉพาะภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น ธุรกิจโรงแรม ภาคการท่องเที่ยว และบริการ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ขึ้นกับรัฐจะเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ออกมา เบื้องต้นคาดว่ารัฐต้องมีเงินเพื่อช่วยในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท

“ในหลายประเทศรัฐบาลช่วยจ่ายเพื่อลดภาระให้กับนายจ้าง มากน้อยขึ้นอยู่กับงบประมาณของแต่ละประเทศกับสถานะการคลังของแต่ละประเทศ แต่ถ้าถามใจจริงก็คือว่า ความเสียหายในครั้งนี้ บางรายขายของไม่ได้เลย รายได้เป็นศูนย์ เพราะฉะนั้นการที่จะให้ผู้ประกอบการรักษาคนงานไว้ และไม่ปิดกิจการ จะต้องช่วยชดเชย ซึ่งถ้าชดเชยไม่ได้ 100% อาจจะเป็น 75% หรือ 50% ก็แล้วแต่ภาครัฐจะพิจารณา”

โรงแรมยังเปิดแค่38%

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) กล่าวว่า สิ่งที่สมาคมต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐมากในขณะนี้ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนค่าจ้างแรงงานคนครึ่งร่วมกับผู้ประกอบการ (โคเพย์เม้นท์) ในธุรกิจโรงแรม ฝั่งละ 7,500 บาทต่อเดือน สำหรับค่าจ้างแรงงานไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน จากพนักงานโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องที่มีทั้งหมดราว 4.5 แสนคน

ทั้งนี้ แม้โรงแรมจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ก็ได้รับผลกระทบมาก จากต้นทุนที่สูงมากโดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน ซึ่งตอนนี้แทบไม่ไหวกันแล้ว จนมีการทยอยปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้น โดยวันนี้โรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยเพียง 51% ของการจ้างงาน มีโรงแรมเปิดให้บริการอยู่เพียง 38% และอีก 41% เปิดกิจการเป็นบางส่วน ถ้ารัฐบาลจะสนับสนุนโคเพย์เม้นท์ เพื่อช่วยจ่ายให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี ก็ควรมองถึงธุรกิจโรงแรมด้วย เพราะจะได้รับผลกระทบมากเช่นกัน

จ้างนักศึกษาจบใหม่

ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจ จำนวน 1 หมื่นอัตรา วงเงิน 2,254.32 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจใน 28  ส่วนราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดดควิด-19 โดยจะเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรี จบใหม่ ให้ได้รับเงินเดือน 18,000 บาทต่อเดือน มีระยะเวลาของสัญญาจ้างเป็นเวลา 1 ปี หรือไม่เกิน 30 กันยายน 2565  และได้รับสิทธิประกันสังคม และสิทธิอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,686 วันที่ 10 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง