วันนี้(17 มิ.ย.64)นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รชค.) ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. ผ่านระบบ Video Conference โดยได้ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของกรมท่าอากาศยาน มาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในท่าอากาศยาน รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามแผนปฏิบัติการที่กรมท่าอากาศยานวางไว้ในการดำเนินการ ดังนี้
1.การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานกาฬสินธุ์และมุกดาหาร ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการจัดทำแผนแม่บท MR-MAP พัฒนามอเตอร์เวย์สอดคล้องโครงข่ายรถไฟทางคู่รถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ
โดยในส่วนของโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดการประชุมรับฟังคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว แต่ยังไม่มีการขนส่งทางอากาศ
กรมท่าอากาศยานจึงเล็งเห็นถึงประโยชน์ ในการก่อสร้างท่าอากาศยานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกต่อประชาชน โดยหลังจากนี้จะดำเนินการเกี่ยวกับงานสำรวจออกแบบระบบท่าอากาศยานและจัดทำแบบรายละเอียดเบื้องต้น รวมถึงงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เพื่อจัดการประชุมกลุ่มย่อยในระดับพื้นที่ตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับท่าอากาศยานมุกดาหาร ในตอนนี้ได้การจ้างที่ปรึกษาออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่น ๆ รวมถึงศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม วงเงินงบประมาณ 42.6926 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 เพื่อดำเนินการต่อไป โดยทั้งสองโครงการจะช่วยพัฒนาเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
2.การจ้างออกแบบและขยายท่าอากาศยานระนองและ ท่าอากาศยานชุมพร ตามการศึกษาแผนโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน แลนด์บริดจ์ (Land bridge) เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกจังหวัดชุมพรและระนองโดยแผนพัฒนาท่าอากาศยานระนองจะดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดก่อสร้างขยายท่าอากาศยาน พร้อมศึกษารายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขยายท่าอากาศยาน อาคารที่พักผู้โดยสารและส่วนประกอบอื่น ๆ วงเงินงบประมาณ 17.1692 ล้านบาท
แผนพัฒนาท่าอากาศยานชุมพรจะดำเนินการจ้างออกแบบขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและองค์ประกอบอื่น ๆ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม วงเงินงบประมาณ 48.2500 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองโครงการอยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2565
3.การจัดพื้นที่เชิงพาณิชย์สำหรับ OTOP และวิสาหกิจชุมชนภายในท่าอากาศยาน ตามนโยบายการตั้งศูนย์จำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP ในพื้นที่สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ และท่าอากาศยาน โดยเน้นความเป็น “ท่าอากาศยานของชุมชน”
การดำเนินงานจะเน้นการมีส่วนในการร่วมพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ ในด้านของการจัดให้มีพื้นที่สำหรับจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สินค้า OTOP เป็นการเสริมเศรษฐกิจฐานราก ขณะนี้ได้จัดสรรพื้นที่สำหรับโครงการนี้แล้วในท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบิน โดยจะประสานความร่วมมือกับจังหวัดเพื่อจัดหา ชนิดสินค้าที่หลากหลาย และผู้ประกอบการที่สนใจมาดำเนินการต่อไป
4.โครงการ Green Airport ท่าอากาศยานระนองและน่านนคร ตามนโยบายในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยกรมท่าอากาศยานจะนำท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยานเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเสริมศักยภาพกิจการของสนามบินให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ใช้ทรัพยากรพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของท่าอากาศยาน ก่อนที่คณะกรรมการโครงการจะเข้าประเมินตามขั้นตอนของโครงการต่อไป
นอกจากนี้ รชค.คมนาคม ยังมอบนโยบายการพัฒนาท่าอากาศยานนครราชสีมาเพิ่มเติมให้กับ ทย. โดยสั่งการให้กรมท่าอากาศยานจัดทำแผนงานศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าอากาศยานนครราชสีมาให้เป็นท่าอากาศยานที่รองรับเที่ยวบินพาณิชย์ในการบินข้ามภูมิภาค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นเขตอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวของจังหวัดทางอีสานใต้ “นครชัยบุรินทร์” ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่ง ทย. รับข้อสั่งการเพื่อดำเนินการต่อไป
ข่าวเกี่ยวข้อง: